Author Topic: ฝึกเขียนบรรยายภาพถ่ายกัน!  (Read 37047 times)

Offline Nextopia

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • Posts: 967
    • View Profile
    • PhotoNextor XT eMagazine
 :) ผมได้ยินคำปรารภมาจากหลายแห่งและบ่อยครั้งว่าเรามีนักถ่ายภาพผู้เปี่ยมด้วยฝีมือระดับพระกาฬอยู่มากมายขวักไขว่ แต่ยังนับเป็นจำนวนไม่มากนักที่ระดับพระกาฬเหล่านั้นจะสามารถ "ถ่ายทอด" ไม่ว่าจะผ่านการเขียนหรือการพูด หรือบางท่านก็สามารถเขียนได้ดีแต่ยังไม่สามารถถ่ายทอดผ่านทางคำพูดได้มากนัก เรียกได้ว่าเป็นคนละเรื่องกับที่รู้จักผ่านตัวอักษรเลยทีเดียว

ไม่มีใครเก่งมาตั้งแต่เกิดหรอกครับ มนุษย์ถูกสร้างมาพร้อมอวัยวะแสนมหัศจรรย์มากมายที่สามารถฝึกฝนฝึกปรือเพื่อดึงเอาสมรรถนะเหล่านั้นออกมาใช้งาน เราเองก็ไม่ได้ถ่ายภาพเป็นตั้งแต่เกิด ทำไมตอนนี้ถึงทำได้?

ผมสนับสนุนให้นักถ่ายภาพทุกท่านมีคุณสมบัติในการถ่ายทอดผ่านวิธีการต่างๆ มากกว่าแค่กรอบสี่เหลี่ยม การพูดและการเขียนจะเป็นเครื่องมือสำคัญอันจะส่งให้คุณขึ้นไปสู่ระดับที่สูงมากยิ่งขึ้นไปอีก ก่อนที่จะรู้จักวิธีการพูดคุณก็ต้องเรียนรู้วิธีการเขียน และก่อนที่จะเขียนคุณก็ต้องรู้จักอ่าน ดังนั้นขั้นตอนก็คือ อ่าน/เขียน/พูด เป็นลำดับไป

ถ้าเราเขียนไม่เป็น ไม่รู้จะเขียนยังไง ก็เขียนในแบบที่คุณอ่านมา ชื่นชอบแบบไหนสไตล์ใดก็เขียนแบบนั้น เริ่มจากสั้นๆ ไปก่อนก็ได้ ชอบแนวทฤษฏีวิชาการก็เขียนไป แต่อย่าลืมแทรกคำผ่อนคลายเข้าไปบ้างจะได้ไม่ดูน่าเบื่อและไม่อยากเข้าใกล้ (เพราะเกรงว่าหัวจะระเบิด) หรือชอบแนวตลกโปกฮาก็เขียนไปแล้วก็สอดแทรกเรื่องราวความรู้เป็นการเป็นงานเข้าไปบ้าง เราจะได้ไม่เป็นคนที่ดูไร้สาระจนเกินไปนัก

ตรวจสอบความถูกต้องของตัวสะกดและคำที่ใช้ให้ดี นั่นคือสิ่งที่จะยืนยันความเป็นตัวคุณ ศัพท์ตามสมัยจะใช้บ้างก็ได้แต่อย่าให้มากเกินงามเพราะเดี๋ยวจะดูไม่น่าเชื่อถือ คำซ้ำๆ หรือใช้เพื่อแก้เก้อเขินก็อย่าให้บ่อย และตรวจสอบรสนิยมในการแสดงความคิดเห็นของเราด้วยว่ามันมีแนวที่จะโน้มเอียงไปในทางใด นั่นแหละภาพพจน์ของเราเลยทีเดียว

...อย่ากลัวที่จะเริ่ม ไม่มีใครเก่งมาจากท้องพ่อท้องแม่หรอกครับ

หลายท่านคงชอบที่จะอ่านในสิ่งที่ผมเขียน หลายท่านชอบฟังในสิ่งที่ผมพูด แต่หลายท่านที่ไม่ชอบเลยก็มี อันนี้มันเป็นเรื่องธรรมดาโลกที่เราคงไม่สามารถทำให้ทุกคนชอบกินข้าวกระเพราไก่ไข่ดาวได้เหมือนกันทุกคนหรอก อย่าไปซีเรียสมากนัก ตั้งใจทำตั้งใจพัฒนาโดยยืนพื้นอยู่บนความตั้งใจดี เดี๋ยวเรื่องดีๆ ก็จะเทเข้ามาหาคุณเอง

ไม่ได้ยกว่าตัวเองเก่งฟ้าประทานแต่นำประสบการณ์ที่มีมาบอกเล่าเพื่อกระตุ้นเตือนเพื่อนๆ ทั้งหลาย ผมอยากเห็นพวกเราพัฒนาขึ้นในทุกด้านมากกว่าแค่การถ่ายภาพเพียงอย่างเดียว ก็บอกแล้วว่าคนถ่ายภาพเก่งๆ มีเยอะ แต่คนถ่ายทอดเก่งๆ ยังมีไม่เยอะ นี่หรือเปล่าที่จะเป็นอีกหนทางหนึ่งซึ่งจะทำให้คุณแตกต่างได้ในสังคมมหาชนคนมีกล้องอย่างทุกวันนี้?

เริ่มด้วยการบรรยายภาพถ่ายของคุณให้เกินสามบรรทัดอย่างสร้างสรรค์ก่อนก็แล้วกัน คนที่ยังอยากรู้อยากอ่านก็มีอีกไม่น้อย แต่ที่สำคัญก็คือตัวคุณเองที่ต้องพัฒนานิสัยการอ่านของตัวเองขึ้นมาก่อน ซึ่งผมคิดว่าถ้าคุณอ่านมาได้ถึงบรรทัดนี้ก็แปลว่าคุณเองก็มีแววอยู่แล้ว จะปล่อยให้มันหลับไหลไปถึงไหนกันล่ะ? อย่างน้อยๆ เราก็ได้ชื่อว่าไม่ใช่หนึ่งในคนไทยที่อ่านหนังสือปีละไม่กี่บรรทัดแหละน่า

...ด้วยความกว้างขวางของสังคมสื่อสารอย่างทุกวันนี้ "ถ้าไม่เดินหน้าก็แปลว่าถอยหลัง มันไม่ได้แปลว่าหยุดอยู่กับที่เสียแล้ว" ...คิดดูดีๆ

Offline Nextopia

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • Posts: 967
    • View Profile
    • PhotoNextor XT eMagazine
หลักการบรรยายภาพอย่างง่าย

--------------------------------------
จะพูดว่า "นักแข่งโมโตครอส" คือผู้มีชีวิตอันวิบากก็ยังได้ เพราะทุกครั้งที่ลงสนามก็มีอันต้องฝ่าฝุ่นควันหล่มโคลนเพื่อไปยังจุดหมายอันเป็นเส้นชัยซึ่งมีธงลายหมากรุกเป็นเครื่องแสดง และบางครั้งมันก็ไม่ได้เป็นอย่างที่หวังเสมอไป
ภาพจากงานแข่งโมโตครอสชิงแชมป์โลกสนามสอง ศรีราชา เมื่อต้นปีที่ผ่านมาครับ
--------------------------------------

ถ้าคุณไม่รู้ว่าจะบรรยายภาพยังไงดี? ผมมีหลักการและวิธีคิดขั้นพื้นฐานมาให้ลองเริ่มกันดูก่อนครับ แค่บรรยายโดยตอบคำถามเหล่านี้

***** ใคร - ทำอะไร - ที่ไหน - เมื่อไหร่ - อย่างไร *****

มันไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับตามนี้ก็ได้ (เป็นแค่รูปคำที่ช่วยให้จำง่ายเท่านั้น) ซึ่งจากตัวอย่างของผมก็คือ :

ใคร : จะพูดว่า "นักแข่งโมโตครอส" คือผู้มีชีวิตอันวิบากก็ยังได้
ทำอะไร : เพราะทุกครั้งที่ลงสนาม
อย่างไร :ก็มีอันต้องฝ่าฝุ่นควันหล่มโคลนเพื่อไปยังจุดหมายอันเป็นเส้นชัยซึ่งมีธงลายหมากรุกเป็นเครื่องแสดง และบางครั้งมันก็ไม่ได้เป็นอย่างที่หวังเสมอไป
ที่ไหน : ภาพจากงานแข่งโมโตครอสชิงแชมป์โลกสนามสอง ศรีราชา
เมื่อไหร่ : เมื่อต้นปีที่ผ่านมาครับ

จะเห็นว่ามันตอบโจทย์พื้นฐานได้หมดแล้ว ซึ่งไม่ต้องเรียงลำดับไปดังว่า ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับการใช้คำของคุณแล้วล่ะว่าจะให้มันเรียบง่ายหรือพิสดารน่าติดตามขนาดไหน อันนี้เป็นหลักการพื้นฐานของงานสื่อโฆษณาซึ่งเราสามารถนำมาประยุกต์ใช้กันได้ครับ

ภาพก็จะช่วยหนุนตัวอักษร ตัวอักษรก็จะช่วยหนุนภาพ ถึงแม้ว่าจะเป็นคำบรรยายอย่างง่ายไม่ค่อยน่าดึงดูดอะไรนัก แต่คุณก็จะเห็นว่าถ้ามีแต่ภาพเฉยๆ มันก็แค่นั้น ดูแล้วก็ผ่านเลยไป จริงไหมล่ะ?
ผมไม่ค่อยถนัดงานหลักการทฤษฏีอะไรสักเท่าไหร่แล้วก็ไม่ได้ร่ำเรียนมาโดยตรง มีแต่วิธีแบบมวยวัดที่อาศัยขยันต่อยทำคะแนนเข้าไว้ แต่ถ้าคุณชอบและอยากรู้ก็ขอเสียงสนับสนุนหน่อย ผมจะได้นำเรื่องวิธีการเขียนมาให้ลองศึกษากันดูเป็นระยะๆ ครับ

Offline Nextopia

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • Posts: 967
    • View Profile
    • PhotoNextor XT eMagazine
...มันเป็นเรื่องของ วรรค ตอน

เรื่องพื้นฐานอันสำคัญมาก เว้นวรรคไม่ดีนี่ความหมายของเรื่องราวผิดเพี้ยนไปเลยทีเดียว

"ไอ้ระยำทำได้" ขอโทษที่ดูเหมือนคำหยาบคายรุนแรง แต่โดยความตั้งใจของผู้สื่อไม่ได้คิดจะให้มันหยาบคาย สมัยเมื่อนานมาแล้ว "เขาทราย กาแล็คซี่" ขึ้นชกป้องกันตำแหน่งแชมป์โลก ผลก็คือชนะเหมือนเดิม เขาทรายนั้นมีชื่อเล่นว่า "ระ" ซึ่งในหมู่คนคุ้นเคยก็จะเรียกว่า ไอ้ระ มันเป็นพาดหัวข่าวที่ควรจะวรรคว่า ไอ้ระ ยำ ทำได้ อันหมายถึง เขาทรายยำคู่ต้อสู้ ป้องกันตำแหน่งแชมป์โลกเอาไว้ได้

เห็นไหมล่ะครับ กลายเป็นคนละเรื่องไปเลย จากเรื่องของกีฬาเลยพาให้นึกไปถึงคดีข่มขืนผู้เยาว์ไปเสียอย่างนั้น

"ช้อนสแตนเลสอย่างดี ไม่ลอกไม่ดำ" ตัวอย่างอมตะของการเว้นวรรคตอน ปรากฏว่าชื้อไปใช้แล้วทั้งลอกทั้งดำ กลับมาด่าก็โดนเถียง เพราะถ้ามันไม่ลอกมันก็ไม่ดำ...ซะงั้น

ในการเขียนคำบรรยายเราต้องรู้จักเว้นวรรคตอนให้ถูกต้องเพื่อสื่อความหมายอันชัดเจน เรื่องราวต้องไม่โดนเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่นอันเนื่องมาจากการเว้นวรรคที่ไม่ถูกต้อง ผมเห็นผู้คนมากมายเขียนเว้นวรรคไม่ถูกจังหวะ บางเรื่องอ่านแล้วก็สะดุดตะกุกตะกัก ที่อาการหนักมากก็คือไม่รู้จะเว้นวรรคยังไงตอนไหนก็เลยไม่เว้นมันซะเลย เรื่องราวของคุณก็เลยเหมือนกับสภาพการจราจรบนถนนอโศกในชั่วโมงเร่งด่วนของวันศุกร์สิ้นเดือนที่ฝนตก (คิดดูก็แล้วกันว่ามันจะแน่นเอี๊ยดน่าขนลุกขนาดไหน)

---------------------------------------------------
เช้าวันหนึ่งที่อากาศสดใสลมยามเช้าเคล้าคลอแสงแดดอุ่นอันมีฉากหลังเป็นทิวเขาอันตระการภาพนี้ถ่ายด้วยความรู้สึกอันยากจะบรรยายผมอยากจะให้ทุกคนมายืนอยู่ตรงนี้ด้วยกันผมถ่ายภาพด้วยความงงงันว่าจะเปิดรับแสงยังไงดีในที่สุดก็ได้ภาพนี้ออกมาดีใจจริงๆไม่อยากเชื่อเลยว่าเราเองก็ทำได้ฮิฮิ

 ??? อ่านจบแล้วอาจเป็นลมตายเพราะไม่ทันได้หายใจ
---------------------------------------------------

เช้าวันหนึ่งที่ อากาศสดใสลมยามเช้าเคล้าคลอแสงแดดอุ่นอันมี ฉากหลังเป็นทิวเขาอันตระการภาพนี้ถ่ายด้วย ความรู้สึกอันยากจะบรรยายผมอยากจะให้ทุก คนมายืนอยู่ตรงนี้ด้วยกันผม ถ่ายภาพด้วยความงงงันว่าจะเปิดรับ แสงยังไงดีในที่สุดก็ได้ภาพนี้ออกมาดี ใจจริงๆไม่อยากเชื่อเลยว่าเราเองก็ทำได้ฮิฮิ

 :( ยังกะอ่านจากเครื่องมือแปลภาษาของ Google
----------------------------------------------------

การบรรยายภาพเป็นคะแนนส่วนหนึ่งของการประกวดภาพถ่ายครับ ถึงภาพถ่ายของคุณจะโดดเด่นแต่ถ้าบรรยายภาพได้ดับดิ้นละก็ มีหวังได้ตกรอบแน่ๆ ซึ่งการเว้นวรรคก็เป็นหนึ่งในนั้น

เทคนิคง่ายๆ ของการดูเว้นวรรคก็คือ ลองอ่านประโยคที่คุณเขียนแล้วเว้นจังหวะหายใจดูครับ เคาะวรรคตรงนั้นแล้วอ่านใหม่อีกทีว่ามันใช่มั๊ย? อ่านแล้วรู้เรื่องหรือเปล่า? เพราะอันที่จริงแล้วการเว้นวรรคก็เริ่มต้นมาจากการหยุดเว้นช่วงหายใจนี่แหละ แต่ก็อย่ายึดเอาช่วงเว้นหายใจเป็นหลักเพียงอย่างเดียวนะครับ (เพราะได้ยินมาว่าบางท่านหายใจทางผิวหนังได้) ต้องอ่านซ้ำด้วยว่ามันอ่านแล้วเข้าใจหรือเปล่า หรือถ้ามันติดกันยาวเกินไปจนหน้ามืดเพราะไม่ได้หายใจนั่นแสดงว่าประโยคนั้นของคุณมีปัญหาแล้วล่ะ

เทคนิคอีกอย่างหนึ่งก็คือ เว้นหนึ่งวรรคตามหลังทุกเครื่องหมาย ไม่ว่าจะเป็น ) ? ! ๆ " . ฯลฯ อะไรก็ตามแต่ มันจะช่วยให้ประโยคซึ่งเต็มไปด้วยตัวอักษรดูดีขึ้นได้

Offline Nextopia

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • Posts: 967
    • View Profile
    • PhotoNextor XT eMagazine
Re: ฝึกเขียนบรรยายภาพถ่ายกัน!
« Reply #3 on: November 01, 2014, 10:14:08 AM »
มันเป็นอีกเรื่องบาดใจของคนไทยเจ้าของภาษา..."คำผิด"

แหม่...เหมือนกับจะเปิดโรงเรียนสอนภาษาไทย อันที่จริงแล้วผมก็มีปัญหากับทุกเรื่องที่นำมาเขียนแนะนำกันนี่แหละครับ ก็พยายามหาวิธีแก้ไขปรับปรุงกันไป ถึงแม้ทุกวันนี้จะยังไม่สมบูรณ์แบบแต่ก็นับว่ามันน้อยลงเรื่อยๆ

ล้มก่อนก็เลยมีเอาเรื่องล้มๆ เหล่านั้นมาเล่าสู่กันฟัง

ผมเป็นคนที่เขียนคำผิดได้เยอะแยะมากมายครับ จำได้เลยว่าสมัยเริ่มหัดเขียนผมจะมีปัญหากับคำว่า "ไหน" เป็นอย่างมาก เพราะผมมักจะเขียนเป็น "ใหน" ไปเสียทุกที ซึ่งผิดทีไรก็งามไส้ขายหน้าเค้าไปทั่ว

วิธีแก้ไขของผมก็คือ นั่งคัดคำว่า "ไหน" โดยการเขียนด้วยลายมือลงไปบนกระดาษหลายๆ หน้า เอาจนกว่าจะจำได้นั่นแหละ ฝึกตัวเองแบบเด็ก ป.1 เลยทีเดียว

คุณอาจจะคิดว่ากะอีแค่คำว่า ไหน แค่นี้ทำไมจะต้องจำไม่ได้ด้วย นั่นน่ะสิครับ ผมเองก็ยังสงสัยว่ามันอะไรกันนักกันหนา เขียนที่ไรไม้ม้วนเป็นต้องนำมาก่อนเสียทุกทีไป

เขียนคำผิดแล้วมันจะถึงตายเลยรึเปล่า? ไม่ถึงตายหรอกครับ แต่มีผลต่อความน่าเชื่อถือ เพราะยามใดก็ตามที่เราเขียนเรื่องราวเชิงวิชาการ การสะกดคำให้ถูกตามหลักไวยากรณ์และอักขระนั้นเป็นสิ่งสำคัญมากเลยทีเดียว แต่ถึงจะเป็นเรื่องตลกโปกฮาทั่วไปแบบไม่ซีเรียส การเขียนคำให้ถูกก็ยังเป็นสิ่งสำคัญอยู่ดี เพราะอย่างน้อยมันก็ยังแสดงให้เห็นว่าเราให้ความสำคัญและเป็นคนละเอียดพอใช้เลยแหละ

เมื่อคุณใส่ใจในรายละเอียด ก็มีแนวโน้มว่าคุณจะเป็นคนรอบคอบและประณีตในทุกเรื่อง (คนละอย่างกับเรื่องมากนะ) ซึ่งน่านับถืออยู่ไม่น้อย ในทางตรงกันข้ามถ้าคุณเขียนผิดแล้วผิดอีก หลายคนก็จะเริ่มตั้งแง่ว่าไปฝึกสะกดคำมาให้ถูกก่อนไป๊ เลยไม่ยอมเปิดรับข้อความของเรานู่นเลยทีเดียว

ซึ่งก็แน่ละครับ มันมีผลต่อคำบรรยายภาพถ่ายเป็นอย่างมาก การสะกดผิดบ่อยๆ มีผลต่อความรู้สึกที่ส่งผลไปถึงภาพถ่ายของเราได้เลย ต่อให้ภาพถ่ายของคุณสวยสุดยอดไร้ที่ติ แต่เมื่อมาเจอเข้ากับคำผิดมันก็กลายเป็นที่ติและเย้ยหยันไปจนได้

ตัวอย่างคำพื้นๆ ที่เรามักจะสะกดผิด :

ใหน ที่ถูกคือ ไหน
อนุญาติ ที่ถูกคือ อนุญาต
ใบกระเพรา ที่ถูกคือ ใบกะเพรา (บางคนพิมพ์ไม่ดู กลายเป็นใบกระเพาะไปเลย >_<)
ขโมย ที่ถูกคือ โขมย
คลิ๊ก ที่ถูกคือ คลิก (คลิกเม้าส์นั่นแหละ)
สังเกตุ ที่ถูกคือ สังเกต
สีสรร ที่ถูกคือ สีสัน

ทั้งนี้ไม่นับรวมคำประหลาดๆ ซึ่งสื่อไปถึงอารมณ์ที่เราใช้กันอยู่ในโซเชียลครับ อย่างเช่น อั๊ยยะ หราาาา จริงอ่ะ ฯลฯ ซึ่งเป็นความพยายามในเรื่องของการผนวกน้ำเสียงเข้ามาในตัวอักษร อันนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งไปที่ต้องดูบริบทในการสื่อความหมายด้วย ซึ่งผมคิดว่าทางราชบัณฑิตยสถาน (หน่วยงานกำกับดูแลเรื่องภาษาไทย) เองก็คงจะปวดหัวกับเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน

สำหรับท่านที่ไม่แน่ใจในคำที่เราใช้ว่าสะกดผิดถูกหรือไม่อย่างไร ผมแนะนำให้พิมพ์ลงไปในช่องค้นหาของ Google ดูครับ ซึ่งจะมีคำเลือกมาให้เราดู ถ้าคำนั้นของเราสะกดผิดมันก็จะมีคำที่สะกดถูกมาให้เลือก หรืออีกวิธีหนึ่งก็คือไปหาโหลดโปรแกรม Dictionary มาติดเครื่องเอาไว้ ไม่แน่ใจคำไหนก็พิมพ์ลงไปดูเลย

นี่ยังไม่รวมประเภทพิมพ์ผิดแล้วฮาอย่างที่เราเคยเห็นๆ กันมานะ :

คุณยายชอบเคี้ยวหมาฝรั่งมากค่ะ ทำยังไงดีคะ < ตก ก.ไก่ คุณยายเลยกลายเป็นปอบไปเลย :D

แฟนผมเป็นคนเสียวดังมากครับ < จาก ง.งู กลายเป็น ว.แหวน บุคลิกและภาพพจน์ทั้งของเราและของแฟนเปลี่ยนไปสู่ด้านมืดเลยทีเดียว :D

ผมเองก็ยังมีผิดมีถูกอยู่บ้างเหมือนกัน แต่ก็พยายามแก้ไขตัวเองเอาไว้เรื่อยๆ เสียดายเหมือนกันหากภาษาไทยของเราจะค่อยๆ ผิดเพี้ยนไปจนน่าเป็นห่วง อย่างน้อยๆ ในการพยายามเขียนคำบรรยายภาพให้ถูกของเราก็ยังเป็นการฝึกความละเอียดรอบคอบให้ตัวเองและยังเป็นส่วนช่วยให้ภาษาไทยแข็งแรงต่อไปด้วย

...ไม่อยากให้คนอื่นเค้าเห็นว่าเรากระจอกน่ะครับ พยายามกันเข้านะ :D

Offline Yoonnaworn

  • Newbie
  • *
  • Posts: 2
    • View Profile
Re: ฝึกเขียนบรรยายภาพถ่ายกัน!
« Reply #4 on: December 16, 2014, 12:05:12 PM »
สาระทั้งนั่นเลย ขอจดจำไปใช้หน่อยนะครับ

Offline Thewinofangry

  • Newbie
  • *
  • Posts: 2
    • View Profile
Re: ฝึกเขียนบรรยายภาพถ่ายกัน!
« Reply #5 on: December 27, 2014, 02:13:42 PM »
เลือดมุมที่ถ่ายภาพได้เจ๋งครับ วิวเลยออกมาดี

Offline Nextopia

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • Posts: 967
    • View Profile
    • PhotoNextor XT eMagazine
Re: ฝึกเขียนบรรยายภาพถ่ายกัน!
« Reply #6 on: December 03, 2015, 09:06:51 AM »
ทำไมผมถึงได้ย้ำนักย้ำหนากับเพื่อนสมาชิกนักถ่ายภาพถึงเรื่องของการพยายามเขียนคำบรรยายภาพ...ผมเห็นอะไรในนั้น?

ด้วยประสบการณ์ที่สาละวนอยู่ในสวนอักษรและกรอบสี่เหลี่ยมอยู่พอสมควร ผมจึงพอที่จะประมวลได้ครับว่า "การเขียน" ที่หลายท่านขยาดนี้จะช่วยเรียบเรียงความคิดให้เป็นขั้นเป็นตอนเข้าลู่เข้าทางได้ดีขึ้น เพราะคุณต้องพยายามเรียงลำดับก่อนที่จะเรียงร้อยอักษรประกอบมันออกมาให้ต่อเนื่องกันเพื่อให้เป็นเรื่องราวเกิดขึ้น

ประโยชน์ของการเรียงลำดับความคิดอันเนื่องมาจากการเขียนส่วนหนึ่งนั้นมันก็จะวนกลับมาเป็นทักษะในการถ่ายภาพของเราด้วยครับ ก่อนที่จะถ่ายภาพคุณก็จะมีการเรียงลำดับเรื่องราวและความสำคัญของสิ่งที่จะถ่ายภาพได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนและดูน่าสนใจ ไม่ใช่เพียงแค่เห็นอะไรแล้วก็ถ่ายภาพมันทื่อๆ ออกไปอย่างนั้น ยิ่งคุณฝึกฝนการเขียนได้มากเท่าไหร่ก็จะยิ่งเซียนในการถ่ายภาพได้มากขึ้นโดยไม่รู้ตัวด้วย เพราะรู้แล้วว่ากำลังจะนำเสนออะไรออกไป และมันควรจะถูกนำเสนอด้วยมุมมองอย่างไร ทั้งหมดนี้จะกลายเป็นสัญชาตญาณที่แทบจะไม่ต้องคิดเลยด้วยซ้ำ มันจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก

ก่อนที่จะเขียนให้ดีได้เราต้องรู้จักการ "อ่าน" เสียก่อน ถ้าท้อแท้ต่อการอ่านก็อย่าเพิ่งไปอ่านอะไรที่มันยาวๆ ทำความคุ้นเคยให้กับสมองของเราด้วยการอ่านบทความสั้นๆ เพื่อให้มันชินแล้วค่อยขยับชั้นขึ้นไป ไม่ต้องพยายามไปจับใจความอะไรทั้งสิ้นครับ แค่อ่านไปเพลินๆ แล้วถามตัวเองว่าเรารู้เรื่องมากน้อยแค่ไหนและอะไรที่เกิดขึ้นในความรู้สึกของเรา เอาแค่นั้นก่อน

และเมื่อเริ่มฝึกเขียนก็ไม่ต้องวุ่นวายสวิงสวายบันเทิงอักษรอะไรเยอะแยะนักครับ ปล่อยให้ชั้นเชิงสำบัดสำนวนอันโลดโผนให้เป็นเรื่องของพวกเซียนเค้าไป ของเราเอาแค่เขียนออกมาให้ได้ว่า "ใคร"- "ทำอะไร"- "ที่ไหน"- "เมื่อไหร่"- "อย่างไร" เท่านี้พอ ไม่ต้องยืดยาวมากนัก เรียงลำดับตามนี้ไปเลย ค่อยๆ ฝึกฝนไปครับ สั้นๆ แต่ได้ใจความน่าดู

จากนั้นก็ค่อยๆ เหยาะเพิ่มรสชาติทางข้อความเพิ่มเข้าไปทีละนิดละหน่อย ไม่นานก็จะเขียนได้คล่องและลื่นไหลมากขึ้นเอง ...ทุกสิ่งอย่างต่างก็ต้องการก้าวแรกทั้งนั้นแหละ

...แล้วมันจะนำเรื่องและโอกาสดีๆ เข้ามาสู่ชิวีตของเราเอง

หลายท่านรู้จักอีกด้านหนึ่งของผมว่าเป็นนักพูดน้ำไหลไฟดับด้วย ขอบอกว่าทักษะนี้ก็ได้มาจาก "การเขียน" ที่ผมฝึกฝนอยู่บ่อยๆ นี่แหละครับ

"ใคร"- "ทำอะไร"- "ที่ไหน"- "เมื่อไหร่"- "อย่างไร" ...อย่าลืมคาถานี้นะครับ  ;)

Offline Milkgetker

  • Newbie
  • *
  • Posts: 2
    • View Profile
แต่ละภาพ สวยงามมากๆ