มันเป็นอีกเรื่องบาดใจของคนไทยเจ้าของภาษา..."คำผิด"
แหม่...เหมือนกับจะเปิดโรงเรียนสอนภาษาไทย อันที่จริงแล้วผมก็มีปัญหากับทุกเรื่องที่นำมาเขียนแนะนำกันนี่แหละครับ ก็พยายามหาวิธีแก้ไขปรับปรุงกันไป ถึงแม้ทุกวันนี้จะยังไม่สมบูรณ์แบบแต่ก็นับว่ามันน้อยลงเรื่อยๆ
ล้มก่อนก็เลยมีเอาเรื่องล้มๆ เหล่านั้นมาเล่าสู่กันฟัง
ผมเป็นคนที่เขียนคำผิดได้เยอะแยะมากมายครับ จำได้เลยว่าสมัยเริ่มหัดเขียนผมจะมีปัญหากับคำว่า "ไหน" เป็นอย่างมาก เพราะผมมักจะเขียนเป็น "ใหน" ไปเสียทุกที ซึ่งผิดทีไรก็งามไส้ขายหน้าเค้าไปทั่ว
วิธีแก้ไขของผมก็คือ นั่งคัดคำว่า "ไหน" โดยการเขียนด้วยลายมือลงไปบนกระดาษหลายๆ หน้า เอาจนกว่าจะจำได้นั่นแหละ ฝึกตัวเองแบบเด็ก ป.1 เลยทีเดียว
คุณอาจจะคิดว่ากะอีแค่คำว่า ไหน แค่นี้ทำไมจะต้องจำไม่ได้ด้วย นั่นน่ะสิครับ ผมเองก็ยังสงสัยว่ามันอะไรกันนักกันหนา เขียนที่ไรไม้ม้วนเป็นต้องนำมาก่อนเสียทุกทีไป
เขียนคำผิดแล้วมันจะถึงตายเลยรึเปล่า? ไม่ถึงตายหรอกครับ แต่มีผลต่อความน่าเชื่อถือ เพราะยามใดก็ตามที่เราเขียนเรื่องราวเชิงวิชาการ การสะกดคำให้ถูกตามหลักไวยากรณ์และอักขระนั้นเป็นสิ่งสำคัญมากเลยทีเดียว แต่ถึงจะเป็นเรื่องตลกโปกฮาทั่วไปแบบไม่ซีเรียส การเขียนคำให้ถูกก็ยังเป็นสิ่งสำคัญอยู่ดี เพราะอย่างน้อยมันก็ยังแสดงให้เห็นว่าเราให้ความสำคัญและเป็นคนละเอียดพอใช้เลยแหละ
เมื่อคุณใส่ใจในรายละเอียด ก็มีแนวโน้มว่าคุณจะเป็นคนรอบคอบและประณีตในทุกเรื่อง (คนละอย่างกับเรื่องมากนะ) ซึ่งน่านับถืออยู่ไม่น้อย ในทางตรงกันข้ามถ้าคุณเขียนผิดแล้วผิดอีก หลายคนก็จะเริ่มตั้งแง่ว่าไปฝึกสะกดคำมาให้ถูกก่อนไป๊ เลยไม่ยอมเปิดรับข้อความของเรานู่นเลยทีเดียว
ซึ่งก็แน่ละครับ มันมีผลต่อคำบรรยายภาพถ่ายเป็นอย่างมาก การสะกดผิดบ่อยๆ มีผลต่อความรู้สึกที่ส่งผลไปถึงภาพถ่ายของเราได้เลย ต่อให้ภาพถ่ายของคุณสวยสุดยอดไร้ที่ติ แต่เมื่อมาเจอเข้ากับคำผิดมันก็กลายเป็นที่ติและเย้ยหยันไปจนได้
ตัวอย่างคำพื้นๆ ที่เรามักจะสะกดผิด :
ใหน ที่ถูกคือ ไหน
อนุญาติ ที่ถูกคือ อนุญาต
ใบกระเพรา ที่ถูกคือ ใบกะเพรา (บางคนพิมพ์ไม่ดู กลายเป็นใบกระเพาะไปเลย >_<)
ขโมย ที่ถูกคือ โขมย
คลิ๊ก ที่ถูกคือ คลิก (คลิกเม้าส์นั่นแหละ)
สังเกตุ ที่ถูกคือ สังเกต
สีสรร ที่ถูกคือ สีสัน
ทั้งนี้ไม่นับรวมคำประหลาดๆ ซึ่งสื่อไปถึงอารมณ์ที่เราใช้กันอยู่ในโซเชียลครับ อย่างเช่น อั๊ยยะ หราาาา จริงอ่ะ ฯลฯ ซึ่งเป็นความพยายามในเรื่องของการผนวกน้ำเสียงเข้ามาในตัวอักษร อันนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งไปที่ต้องดูบริบทในการสื่อความหมายด้วย ซึ่งผมคิดว่าทางราชบัณฑิตยสถาน (หน่วยงานกำกับดูแลเรื่องภาษาไทย) เองก็คงจะปวดหัวกับเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน
สำหรับท่านที่ไม่แน่ใจในคำที่เราใช้ว่าสะกดผิดถูกหรือไม่อย่างไร ผมแนะนำให้พิมพ์ลงไปในช่องค้นหาของ Google ดูครับ ซึ่งจะมีคำเลือกมาให้เราดู ถ้าคำนั้นของเราสะกดผิดมันก็จะมีคำที่สะกดถูกมาให้เลือก หรืออีกวิธีหนึ่งก็คือไปหาโหลดโปรแกรม Dictionary มาติดเครื่องเอาไว้ ไม่แน่ใจคำไหนก็พิมพ์ลงไปดูเลย
นี่ยังไม่รวมประเภทพิมพ์ผิดแล้วฮาอย่างที่เราเคยเห็นๆ กันมานะ :
คุณยายชอบเคี้ยวหมาฝรั่งมากค่ะ ทำยังไงดีคะ < ตก ก.ไก่ คุณยายเลยกลายเป็นปอบไปเลย
แฟนผมเป็นคนเสียวดังมากครับ < จาก ง.งู กลายเป็น ว.แหวน บุคลิกและภาพพจน์ทั้งของเราและของแฟนเปลี่ยนไปสู่ด้านมืดเลยทีเดียว
ผมเองก็ยังมีผิดมีถูกอยู่บ้างเหมือนกัน แต่ก็พยายามแก้ไขตัวเองเอาไว้เรื่อยๆ เสียดายเหมือนกันหากภาษาไทยของเราจะค่อยๆ ผิดเพี้ยนไปจนน่าเป็นห่วง อย่างน้อยๆ ในการพยายามเขียนคำบรรยายภาพให้ถูกของเราก็ยังเป็นการฝึกความละเอียดรอบคอบให้ตัวเองและยังเป็นส่วนช่วยให้ภาษาไทยแข็งแรงต่อไปด้วย
...ไม่อยากให้คนอื่นเค้าเห็นว่าเรากระจอกน่ะครับ พยายามกันเข้านะ