XT Review : TAMRON 16-300mm F/3.5-6.3 Di II VC PZD MACRO (B016)

 

เลนส์เอนกประสงค์ตัวใหม่ล่าสุดจาก TAMRON ที่อาจจะทำให้คุณต้องทบทวนความหมายของคำว่า “อเนกประสงค์ใหม่อีกหลายๆ รอบ

1

เมื่อถ่ายภาพด้วยกล้อง DSLR มาเป็นระยะเวลาหนึ่ง คุณอาจจะชื่นชอบบรรยากาศการเปลี่ยนเลนส์เข้า-ออกจากกล้องหรืออาจจะต้องทำด้วยความจำเป็น แต่ในที่สุดแล้วคุณก็จะต้องเริ่มเบื่อกับการที่ต้องขนแบกเลนส์หลากหลายไปไกลแสนไกล หรือตัดสินใจไม่ถูกว่าจะหยิบตัวไหนลงกระเป๋ากล้องไปบ้างดี? แต่ที่สำคัญที่สุดคุณจะเบื่อกับไม้เบื่อไม้เมากับเซนเซอร์ของ DSLR นั่นก็คือฝุ่นผงที่แทบจะมองไม่เห็นแต่จะปรากฏกายสลายความสวยในภาพรูรับแสงแคบของคุณจนอยากจะเอาน้ำเข้าไปราดรดเสียให้รู้แล้วรู้รอด ซึ่งเจ้าเม็ดฝุ่นพวกนี้มันก็จะเร้นกายเข้าไปในช่วงขณะที่เราเปลี่ยนเลนส์นั่นเอง

เมื่อไหร่จะมีเลนส์ซูม 8-600mm F/2.8 Macro 1:1 ออกวางขายเสียที? หลายท่านที่เปลี่ยนเลนส์เข้าออกบ่อยๆ อาจจะเคยคิดแบบนี้ อันที่จริงถ้าจะว่าไปแล้วก็คงไม่เกินกำลังทางวิศวกรรมและฟิสิกส์ของมนุษย์ที่จะสร้างมันขึ้นมา แต่เราต้องไม่พูดถึงเรื่องของขนาด น้ำหนัก และที่สำคัญคือต้นทุน ซึ่งดูแล้วไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่จะทำออกมาเพื่อวางขายกันตามห้างหรือร้านกล้อง อย่างน้อยๆ ก็ในยุคนี้

แต่ถ้าจะพูดกันถึงเลนส์ที่เรามักจะเรียกกันว่า ครอบจักรวาลชนิดที่ตัวเดียวเที่ยวรอบโลก ถ่ายภาพทุกสิ่งบนพื้นพิภพแล้วมันก็ยังจะพอใกล้เคียงกับคำนิยามนั้นอยู่บ้าง ซึ่งเรามักจะเรียกมันว่า เลนส์อเนกประสงค์ที่มีทางยาวโฟกัสตั้งแต่มุมกว้างเริ่มจากระยะ 18mm ไปจนถึงเทเลโฟโต้เกิน 200 ไปบ้าง แถมด้วยความสามารถในการถ่ายภาพมาโครได้อีกนิดหน่อยพอแก้ขัด ซึ่งเลนส์พวกนี้มักจะครอบคลุมการใช้งานแบบกว้างๆ ไม่ได้ซีเรียสอะไร เน้นที่ความสะดวกในการพกพาเป็นหลักสำคัญ แต่คุณภาพของภาพนั้นก็อย่างที่รู้กันว่าคงจะคาดหวังอะไรไม่ได้มากนัก ดังนั้นเราจึงได้เห็นมันบ่อยในมือของนักท่องเที่ยว แต่ไม่ค่อยจะได้เห็นมันอยู่ในมือของระดับมืออาชีพที่คุณภาพของภาพคือเรื่องสำคัญอันดับหนึ่งเหนือความสะดวกสบาย

 …แต่ดูเหมือนแนวทางนั้นกำลังจะเปลี่ยนไปเมื่อ TAMRON 16-300mm F/3.5-6.3 Di II VC PZD MACRO รหัส B016 ตัวนี้ปรากฏกายขึ้นในฐานะของเลนส์อเนกประสงค์ผู้อหังการด้วยระยะซูมถึง 18.8 เท่า ตัวแรกของโลกที่ทำได้ถึงขนาดนี้!

ย้อนกลับไปก่อนหน้าเลนส์อเนกประสงค์สำรับ DSLR ที่ใช้เซนเซอร์รับภาพแบบ APS-C มีวางจำหน่ายอยู่หลายรุ่นให้เลือก สำหรับของ TAMRON เองนั้นก็มีอยู่ถึง 2 รุ่น นั่นก็คือ 18-200mm F/3.5-6.3 XR Di II (รหัส A14) และ 18-270mm F/3.5-6.3 Di II VC PZD (รหัส B008) ซึ่งมีจุดเด่นสำคัญที่ขนาดเล็กเสียจนน่าทึ่งและก็เป็นเลนส์ตัวแรกของโลกที่มีระยะซูมถึง 15 เท่า แต่ถ้าจะย้อนกลับไปให้ไกลกว่านั้นคุณก็จะได้รู้ว่า TAMRON นี่แหละคือผู้ผลิตเลนส์เอนกประสงค์ตัวแรกออกมาให้โลกได้ใช้งานกันเมื่อตอนปี ค.. 1992 กับเลนส์ซูมระยะ 28-200mm

 …เรียกได้ว่าเดินอยู่บนเส้นทางผู้เปิดโลกรายแรกมากันตลอดระยะเลยทีเดียว

ในขณะที่ชาวบ้านเขาสุดระยะซูมกันที่ 500mm TAMRON ก็ขยายไปสุดที่ 600mm ในรุ่น 150-600mm (A011) ที่ผมได้นำเสนอไปก่อนหน้านี้ และในขณะที่เลนส์เอนกประสงค์เขาเริ่มกันจาก 18mm TAMRON ก็แหวกแนวอีกครั้งด้วยการเริ่มต้นที่ 16mm และไปสุดที่ 300mm ซึ่งเป็นการเริ่มต้นใหม่อันน่าสนใจ ถึงแม้ว่ามุมจะกว้างขึ้นแค่ไม่มากแต่มันก็ดูแตกต่างจากเลนส์คิท 18mm ที่เราคุ้นเคย ซึ่งถ้าเทียบระยะกับกล้องฟูลเฟรมแล้ว 18mm ก็จะเท่ากับประมาณ 28mm แต่ถ้าเป็น 16mm ก็จะเท่ากับประมาณ 25mm และเมื่อซูมสุดๆ ที่ 300mm ก็จะเท่ากับประมาณ 465mm

น่าสนใจมั๊ยล่ะ?

5

• External

ถ้าคุณเคยผ่านมือ 150-600mm รหัส A011 มาบ้างแล้วและจำมันได้ คุณจะรู้สึกว่า 16-300mm ตัวนี้ (ในรีวิวต่อไปนี้จะเรียกมันว่า “B016”) ก็จะดูคล้ายคลึงกับ A011 ถูกย่อส่วนลงมาในธีมการออกแบบภายนอก ทั้งตัวกระบอกเลนส์ วงแหวนยางของชุดซูม, โฟกัส และปุ่มปรับ VC และ AF/MF นั้นเหมือนกันมาก รวมถึงเอกลักษณ์ใหม่อย่างวงแหวนสีเทาเงิน ทังสเตนก็เหมือนกันแทบจะทุกกระเบียดนิ้ว เพียงแต่มันถูกย่อส่วนลงมา

โดยความรู้สึกส่วนตัวแล้วผมค่อนข้างโล่งอกที่ TAMRON เปลี่ยนแนวในการออกแบบเลนส์มาใช้วงแหวนสีนี้ซึ่งทำให้เลนส์ดูสุขุมขึ้นมาก ต่างจากวงแหวนสีทองเดิมๆ ในเลนส์รุ่นก่อน ซึ่งผมคิดเอาเองว่าหลายท่านคงไม่ตัดสินใจเลือกเลนส์ค่ายอิสระตั้งแต่เริ่มก็เพราะเรื่องนี้โดยที่ไม่ต้องดูคุณภาพกันต่อ

พื้นผิวสัมผัสสวยงามและดูดี ขนาดและรูปแบบของตัวอักษรดูทันสมัยสบายตาขึ้นมาก ซึ่งก็เป็นลักษณะที่ โมเดิร์นตามธีมภาพรวมของเลนส์ TAMRON ยุคใหม่เลยทีเดียว

2

วงแหวนโฟกัสจากที่เคยอยู่ด้านหน้า (B008) ก็ย้ายมาอยู่ด้านหลัง พร้อมระบบ “Full-time Manual Focus” ที่คุณสามารถหมุนโฟกัสได้เองตลอดเวลา (B008 ทำไม่ได้) ซึ่งผมคิดว่ามันดีมากและแอบอยากให้เป็นแบบนี้ในเลนส์ทุกตัว ข้อติก็คือพื้นที่ของวงแหวนโฟกัสนั้นแคบไปหน่อย หมุนไม่ค่อยสะดวกเท่าไหร่นัก

เลนส์ตัวนี้ใช้ฟิลเตอร์ขนาด 67mm ซึ่งก็เป็นขนาดที่หาไม่ยากสำหรับฟิลเตอร์ทั่วไป บนกระบอกเลนส์มีปุ่ม “LOCK” เพื่อป้องกันซูมไหลมาให้ด้วย ซึ่งในระยะแรกๆ ก็คงจะไม่ค่อยได้ใช้ ประกอบกับเลนส์ทั้งตัวก็มีน้ำหนักอยู่แค่ 540 กรัม ซึ่งก็คงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าที่มันจะหลวมและเริ่มไหลลงมาเองได้ จนบางทีเราอาจจะลืมไปแล้วก็ได้ว่ามีตัวล็อคติดมาให้ด้วย

ที่เหลือก็เป็นปุ่ม VC (Vibration Compensation) ON/OFF และปุ่มควบคุมระบบโฟกัส AF/MF มาให้ ฮุดที่มีมาในชุดก็แทบไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก แต่ที่เปลี่ยนไปก็คือฝาปิดหน้าเลนส์ที่ออกแบบมาให้ดูหล่อเหลามากขึ้นกว่าเดิม

…และเมื่อประกอบเข้ากับกล้อง มันจะหล่อเหลาเสียจนคุณแทบจะลืมไปเลยว่านี่คือเลนส์ TAMRON ที่เคยรู้จัก!

4

 

30

ด้านท้ายเลนส์เก็บงานมาได้อย่างเรียบร้อยสวยงาม วัสดุเป็นโลหะแข็งแรงทนทาน แต่ที่เกินความคาดหมายไปมากก็คือเจ้าตัวนี้มีแหวนยางท้ายเลนส์เพื่อกันฝุ่นละอองและความชื้นแบบเดียวกับในเลนส์เกรดโปรมาให้เสียด้วย! นั่นแสดงว่าเจ้าเลนส์ตัวนี้ถึงแม้จะไม่ถึงกับพร้อมลุยหนักแต่ก็ไม่ กระหม่อมบางแน่นอน ซึ่งนั่นแปลว่ามันถูกวางตำแหน่งมาเพื่อให้พร้อมประกบกับบอดี้ตั้งแต่ล่างสุดไปจนถึงตัวท๊อปสำหรับ APS-C กันเลยแน่ๆ

6

 

7

เลนส์รุ่นนี้จะผลิตออกวางจำหน่ายสำหรับกล้องสามยี่ห้อคือ Canon, Nikon และ Sony Alpha ซึ่งสำหรับ Alpha นั้นจะไม่มีระบบ VC อยู่ในเลนส์เนื่องจากมีระบบกันสั่นอยู่ที่เซนเซอร์รับภาพของกล้องอยู่แล้ว

 

• Internal

ในอดีตนั้นเลนส์อเนกประสงค์จะไม่ได้ซีเรียสเรื่องของคุณภาพของภาพมากมายนัก ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นปัจจัยมาจากเรื่องของต้นทุนในการผลิตเพื่อให้ราคาขายจริงเป็นที่ตัดสินใจง่ายด้วย แต่หลังจากที่ได้เห็นผังการประกอบชิ้นเลนส์ของ B016 แล้วต้องขอบอกว่าตกใจครับเพราะมีชิ้นเลนส์พิเศษประกอบร่วมอยู่ด้วยเยอะแยะมากมายเหลือเกิน นั่นแปลว่านอกจากเรื่องของความสะดวกและยืดหยุ่นต่อการใช้งานแล้วเลนส์ตัวนี้ยังซีเรียสเรื่องคุณภาพของภาพอยู่ไม่น้อย

ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับการออกแบบเลนส์ตั้งแต่มุมกว้างไปถึงเทเลโฟโต้ระยะไกลๆ เพราะมันจะมีปัญหาประจำช่วงระยะโฟกัสกันอยู่ ซึ่งดูเหมือนว่าวิศวกรของ TAMRON จะได้ไฟเขียวในเรื่องนี้มากพอสมควรสำหรับการแก้ทางปัญหาของแต่ละช่วง ชิ้นเลนส์พิเศษจึงถูกใส่เข้ามาแก้ปัญหาเหล่านั้นชนิดไม่หวั่นต่อต้นทุน

8

ชิ้นเลนส์ 16 ชิ้น แบ่งออกเป็น 12 กลุ่ม จะเห็นได้ว่าในจำนวนนี้มีชิ้นเลนส์แบบ Molded glass Aspherical (แสดงตำแหน่งด้วยสีแดง) ถึงสามชิ้น ซึ่งเจ้าเลนส์ชนิดนี้เป็นเทคนิคการผลิตชิ้นเลนส์แบบขึ้นรูปชิ้นแก้วด้วยความร้อน หน้าที่ของมันก็คือช่วยให้การรวมแสงบริเวณขอบของเลนส์ให้ตกกระทบกับระนาบรับแสงได้ดียิ่งกว่าชิ้นเลนส์ปกติ ผลก็คือมีความบิดเบี้ยวน้อยกว่า มีอาการสีเหลื่อมน้อยกว่าเลนส์นูนหรือเลนส์เว้าปกติทั่วไป

ระบบชดเชยอาการสั่นไหว VC (Vibration Compensation) ก็ถูกติดตั้งลงมาด้วย ซึ่ง VC ตัวนี้ขึ้นชื่ออย่างมากในเลนส์ 70-300mm Di VC USD (A005) และ 150-600mm (A011) ว่าทำงานได้ฉกาจฉกรรจ์ยิ่งนัก ถึงแม้ว่าใน A005 อาจจะทำความตื่นเต้นในช่วงเริ่มทำงานอยู่บ้างก็ตาม

ถึงแม้ว่าจะขนาดใหญ่กว่า 18-270mm ตัวก่อนหน้าอยู่นิดหน่อย แต่เมื่อเทียบกับระยะอเนกประสงค์ 16-300mm แล้วก็ต้องถือว่ามันยังคงเป็นเลนส์ที่มีขนาดเล็กอยู่ดี ซึ่งหัวใจของเรื่องนี้ก็อยู่ที่มอเตอร์แบบ “PZD” (Piezo Drive) ของทาง TAMRON เขา ซึ่งเป็นเทคนิคการออกแบบและผลิตมอเตอร์ให้มีขนาดเล็กกว่าชาวบ้านชาวช่อง แน่นอนว่าเมื่อมันใช้พื้นที่ไม่มากตัวเลนส์ก็ย่อมจะได้อานิสงส์จนเหลือขนาดเล็กแค่นี้ไปด้วย

 

• Field Test

9

แน่นอนว่าเมื่อน้ำหนักแค่ราวๆ ครึ่งกิโลกรัมและมีขนาดลำตัวเพียงเท่านี้จึงทำให้มันเข้ากับกล้อง APS-C ได้เหมาะเจาะและดูคล่องตัว (หล่อมาก!) การจับถือและลักษณะการซูมเข้าออกนั้นทำได้ดีและดูมั่นคงแข็งแรงกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด ระดับความหนืดกำลังดี หมุนโฟกัสด้วยมือได้ลื่นไหล ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับตัวเดิมก็บอกได้เลยว่านี่มันไม่ใช่การปรับปรุง แต่มันคือการเปลี่ยนรุ่นไปเป็นคนละเรื่องเลยทีเดียว

คุณคงจะอยากรู้ใช่ไหมล่ะว่ามุมภาพของ 16-300mm เนี่ยมันเป็นยังไง? จะสะดวกสบายมากสักแค่ไหนโดยที่เราไม่ต้องเปลี่ยนเลนส์? นี่คือจากมุมกว้างที่สุดไปจนถึงเทเลฯ ที่สุดของเลนส์ตัวนี้ครับ

18

 

19

ในภาพ @16mm คุณจะเห็นยอดแหลมๆ อยู่ที่เส้นขอบฟ้า ซึ่งก็คือเป้าในภาพ @300mm นั่นเอง…จากระยะที่เห็นดูแล้วก็น่าจะสะดวกดีไหมล่ะ?

แล้ว 16mm กับ 18mm ที่เราคุ้นเคยจะต่างกันแค่ไหน?

21

20

 

แน่นอนครับว่ามันต่างกันไม่มากมายนัก แต่ในบางสถานการณ์ประเภท “เราถอยไม่ได้อีกแล้ว” ก็อาจจะพอช่วยได้อีกนิดหน่อย

ครั้งที่ทดสอบมอเตอร์ PZD ในเลนส์รุ่น 18-270mm นั้นผมรู้สึกได้ชัดเจนว่ามันค่อนข้างช้าเมื่อเรานำไปถ่ายภาพตัวแบบที่เคลื่อนไหวรวดเร็วอย่างเช่นนกหรือกีฬามอเตอร์สปอร์ต ซึ่งก็แน่ละว่ามันไม่ได้ถูกออกแบบมาให้รวดเร็วสำหรับอะไรแบบนั้น ถึงกระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะอืดเป็นเรือเกลือแต่ก็ยังทำหน้าที่ได้ดีในระดับของเลนส์เล็กๆ ที่เน้นความคล่องตัวเป็นหลัก

ผมจึงไม่ได้คาดหวังอะไรมากมายนักเมื่อเห็นรหัส PZD ปรากฏอยู่บนเลนส์ B016 ตัวนี้ เพราะมันก็คงไม่น่าจะต่างจากเดิมสักเท่าไหร่

ปรากฏว่าผิดคาด! PZD ในเวอร์ชั่นของ B016 ทำผลงานออกมาได้อย่างน่าประหลาดใจ ผมรู้สึกว่ามันมีความรวดเร็วกว่าเดิมจนลืมไปว่ามันคือ PZD แต่อย่าได้นำไปเทียบกับมอเตอร์ USD ร่วมค่าย เพราะขานั้นเค้าเน้นเรื่องความเร็วที่พุ่งทะยานมากกว่าอยู่แล้ว แต่ก็จะไม่ได้ในเรื่องขนาดเล็กเหมือนที่ PZD ทำได้ เรียกว่าต่างก็มีข้อดีเฉพาะตัวของแต่ละระบบกันไป

10

เพราะฉะนั้นถ้าคุณคิดจะถ่ายภาพอะไรที่เร็วๆ แบบเอาจริงเอาจัง (อย่างช่างภาพกีฬา ฯลฯ) โดยเห็นแก่ระยะซูมสุดที่ 300mm (หรือเกือบ 500mm เมื่อคูณแล้ว) ของ B016 ละก็ขอบอกว่ามันไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับความต้องการขนาดนั้น แต่ถ้าเป็นการถ่ายภาพทั่วๆ ไปแล้วละก็โอเค ไม่ขี้เหร่เลย

และถ้าคุณเป็นนักข่าวในทุกสายที่ไม่ได้เน้นความเร็วละก็ เจ้าตัวนี้รับมือได้พอสมควร ยิ่งถ้านึกถึงความสะดวกและยืดหยุ่นในเรื่องของมุมรับภาพแล้วละก็ต้องขอบอกอีกนั่นแหละว่าในเวลานี้ไม่มีตัวใดเหนือกว่า เพราะมันไม่มีคู่แข่งให้เห็นเลย (อย่างน้อยก็ไม่มีกว้างถึง 16mm และไกลถึง 300mm อยู่ในตัวเดียวกัน)

อีกสิ่งหนึ่งก็คือ ความแน่นหนาของเลนส์ในส่วนที่เคลื่อนไหวได้ต่างๆ ซึ่งคุณจะพบได้ว่านี่มันไม่ใช่เลนส์สำหรับมือสมัครเล่นเสียแล้ว น้องๆ เลนส์มืออาชีพเลยทีเดียว!

อย่างไรก็ตาม ผมพบข้อสังเกตหนึ่งว่าเจ้า B016 นี้มีลักษณะการอัดลมออกมาจากกระบอกเลนส์ที่แรงกว่าตัวเดิมอย่างเห็นได้ชัด จุดนี้ก็อยากฝากให้ TAMRON นำไปดูสักนิดนึง ในแง่คนใช้งานอย่างผมอาจจะไม่ค่อยสบายใจสักเท่าไหร่นัก เพราะไม่รู้ว่าการออกแบบส่วนด้านในกระบอกเลนส์นั้นจะมีอะไรป้องกันสิ่งแปลกปลอมภายนอกเล็ดลอดเข้าไปได้ดีมากน้อยแค่ไหน? เมื่อเทียบกับ 18-270mm แล้วก็พบว่ามันไม่ได้มีลักษณะการอัดอากาศออกมาเด่นชัดเท่า B016 ซึ่งแน่นอนว่าระยะทางยาวมากกว่าก็ย่อมจะต้องอัดอากาศเป็นปริมาณมากกว่า แต่ถ้าปรับปรุงตรงนี้ได้มันก็จะยิ่งสบายใจได้มากขึ้นจริงๆ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงระหว่างการทดสอบตลอดสิบวันมานี้ผมก็ยังไม่พบฝุ่นละอองอะไรเข้าไปด้านในตัวเลนส์อย่างที่กังวล แสดงว่าคงต้องมีระบบป้องกันอยู่พอสมควร

เมื่อซูมระยะจนสุดที่ 300mm ตัวเลนส์จะมีระยะยืดจนสุดหน้าเลนส์ประมาณ 18cm ซึ่งก็ไม่ได้ถือว่ามากมายอะไรเลย มีข้อสังเกตเล็กๆ ว่าเมื่อซูมออกไปแล้วมันช่างเหมือนน้องชายแท้ๆ ของ 150-600mm อันลือลั่นเสียจริงๆ เลยเชียว

รอบการหมุนซูมจากกว้างสุดไปแคบสุดนั้นอยู่ที่ประมาณ 1/4 ของเส้นรอบวงกระบอกเลนส์ ซึ่งต้องบอกว่าเป็นรอบที่สั้นมากและทำได้ดี ไม่ต้องปล่อยมือหมุนใหม่ให้มากกว่านี้ (ซึ่งผมอยากให้ 150-600mm ทำได้แบบนี้บ้าง น่าจะดีมากๆ )

ในฐานะที่ใช้ 70-300mm (A005) มานานพอสมควร ผมกล้าพูดได้ว่าระบบ VC ของ A005 ทำได้ดีกว่า B016 แต่ ไม่มากและดูเหมือนว่าเสียงบ่นเรื่องความหนักหน่วงรุนแรงของการเริ่มต้นทำงานของ VC จะได้รับการตอบรับจาก TAMRON เป็นอย่างดีเพราะแทบไม่เห็นอาการนั้นในเลนส์ตัวนี้แล้ว ดังนั้นไม่ว่าคุณจะถ่ายภาพนิ่งหรือวีดีโอผมคิดว่าระบบนี้เป็นประโยชน์อย่างมาก เมื่อ VC ทำงานแล้วจะช่วยลดอาการเมื่อยล้าทางสายตาและมีสมาธิในการถ่ายภาพมากยิ่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ว่าแล้วผมก็ขอให้คุณไปลองเองที่ร้านแล้วคุณจะรู้ว่า 300mm กับ VC จะทำให้ชีวิตง่ายขึ้นเยอะยังไง?

น้อยคนนักครับที่จะอวดภาพชัดตื้นที่ได้จากเลนส์ประเภทนี้ เพราะถึงแม้ว่าจะมีระยะปลายที่ 300mm แต่มันก็ F กว้างสุดที่ 6.3 เข้าไปแล้ว จะไปละลายหลังได้ยังไง?

ไม่ใช่เสียแล้วครับ…หากคุณรู้หลักการในเรื่องนี้แล้วถ่ายภาพด้วยเลนส์ตัวนี้อีกสักทีคุณจะรู้ว่ามันก็ละลายหลังได้เหมือนกัน แถมโบเก้ก็ดูน่าสนใจเสียด้วย

13

 

11

และที่สำคัญ มันเป็นมาโครแบบน้องๆ มาโครแท้ ด้วยอัตราขยาย 1:2.9 ซึ่งเข้าใกล้วัตถุได้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม คุณก็ถ่ายภาพมาโครได้เหมือนกัน (ถึงแม้จะไม่ได้ 1:1 อย่างมาโครแท้ก็ตาม) และถ้าคุณต่อท่อมาโครหรือ Macro Extension Tube เข้าไปละก็ ผมว่าเจ้าเลนส์ตัวนี้ก็ไม่ใช่เล่นเลยเชียวล่ะ จัดว่าคมเสียจนเลนส์มาโครแท้ๆ ยังต้องค้อนควับเลยเชียว

12

• Image Quality

ขอสารภาพตามตรงว่าแต่แรกนั้นผมไม่ได้คาดหวังในเรื่องคุณภาพของภาพจากเลนส์ประเภทนี้มากมายอะไรนัก ก็อย่างที่เรารับรู้กันมานั่นแหละครับว่าเลนส์ยิ่งซูมได้มากเท่าไหร่คุณภาพของภาพก็จะยิ่งลดลงมากขึ้นเรื่อยๆ อันเนื่องมาจากความสลับซับซ้อนทางออพติกและระยะทางที่แสงจะเดินทางผ่านเข้ามา แต่ผมลืมไปว่า 150-600mm ก็เคยหักล้างนิยามเดิมๆ นั้นไปครั้งนึงแล้ว

B016 ก็เหมือนกัน ชอตแรกที่ลองกดออกมาปรากฏว่าผมอึ้งไปพักใหญ่ๆ แน่นอนครับว่าส่วนหนึ่งก็ต้องยกให้เป็นความชอบของตัวกล้องด้วยในการกลั่นกรองข้อมูลแสงออกมาเป็นข้อมูลดิจิตอลแล้วแสดงผลให้ดู แต่ถ้าเลนส์มีปัญหาภาพก็ออกมาดีไม่ได้เหมือนกัน

14

หลังจากที่อึ้งเสร็จแล้วผมก็ลองดูใหม่จนค่อยๆ หายอึ้ง นี่เลนส์อเนกประสงค์จริงหรือ? เป็นเลนส์ประเภทที่เราไม่เคยแยแสเรื่องคุณภาพของภาพเลยจริงหรือ?

ผมถ่ายภาพทดสอบออกมาหลายอย่างเท่าที่อยากจะลองของ และผมก็พบในท้ายที่สุดว่านี่ไม่ใช่เลนส์สำหรับนักท่องโลกกว้างหรือมือสมัครเล่นเพียงอย่างเดียวเสียแล้ว คุณภาพของมันนั้นถึงกับระดับรับงานได้เลยทีเดียวเชียวแหละ

สมกับที่บรรจุชิ้นเลนส์พิเศษลงมามากมายจริงๆ ไม่ใช่แค่แผนผังเพื่อการโปรโมทเพียงอย่างเดียว

 

15

จากตาราง MTF ของเลนส์ตัวนี้เราจะเห็นได้ว่าถ้าแปลอย่างคร่าวๆ ที่ภาพมุมเทเลโฟโต้ (300mm) นั้นคุณภาพจะดีเยี่ยมจากกลางภาพไปจนถึงสุดขอบภาพเลยทีเดียว ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะนั่นคือมุมจากส่วนกลางของชิ้นเลนส์ ย่อมต้องทำได้ดีเป็นปกติอยู่แล้ว ถ้าออกมาไม่ดีสิมันจะประหลาดมาก

เมื่อดูที่มุมกว้าง 16mm (ซึ่งเป็นเรื่องอันน่าเป็นห่วงของเลนส์ถ่ายภาพมุมกว้าง) จะเห็นว่าเส้นกราฟร่วงลงไปทางปลาย นั่นแปลว่าขอบภาพจะมีคุณภาพลดต่ำลงเมื่อเทียบกับส่วนกลางภาพ ซึ่งดูแล้วก็น่าจะเป็นห่วงจริงๆ

แต่ปรากฏว่าภาพที่ได้ออกมานั้นไม่เหมือนกับที่เส้นกราฟได้สร้างจินตนาการของเราเอาไว้เยอะแยะ ขอบภาพยังคงดูดีไม่เหลื่อมไม่เบลอมากมาย และที่สำคัญเลนส์ตัวนี้ยังมี Distortion หรือความคลาดทรงกลม (ซึ่งจะทำให้เส้นสายต่างๆ โค้งงอผิดจากความเป็นจริง) อยู่ในระดับต่ำเสียด้วย ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่น่าทึ่งอยู่พอสมควร

31

16

สีสันยังคงเป็นสิ่งที่แสดงออกมาได้อย่างเด่นชัด อาการแฟลร์ย่อมมีปรากฏให้เห็นแน่ๆ แต่ก็ไม่ได้ถึงกับเข้ารกเข้าพง แหม…ก็เล่นใส่ชิ้นเลนส์พิเศษเข้ามาซะเยอะแยะขนาดนี้เรื่องคุณภาพของภาพก็แทบจะไม่มีอะไรให้วิจารณ์กันมากมายเสียแล้ว

17

 

เปรียบเทียบการเกิด Vignette (ขอบภาพมืด) ที่รูรับแสงขนาดต่างๆ จะเห็นว่ามีอาการเล็กน้อยที่รูรับแสงกว้างสุดทั้งที่ช่วงกว้างสุดและไกลสุด ซึ่งภาพตัวอย่างนี้ผมพยายามถ่ายแบบเค้นให้เห็น แต่ในการใช้งานจริงทั่วไปก็แทบจะไม่มีผลมากมายนัก แทบจะสังเกตไม่เห็นด้วยซ้ำ

22

 

23

มาดูคุณภาพสีสันที่ระยะ 300mm กับรูรับแสงกว้างสุด สีเหลื่อม CA (Chromatic Aberration) ยังคงมีให้เห็นเป็นปกติที่มุมภาพ ส่วนตรงกลางนั้นแทบไม่มีปัญหา

23

 

25

26

 

 

…ตามด้วยที่ระยะมุมกว้าง

29

 

27

 

28

 

จากภาพตัวอย่างจะเห็นได้ว่าถึงแม้จะดูเหมือนคุณภาพงั้นๆ แต่เมื่อมองไปที่ประเภทของเลนส์และค่าตัวแล้วจะเห็นได้ว่ามันทำได้ดีน่าประทับใจ เพราะการออกแบบเลนส์ซูมขนาด 18.8 เท่านี้ไม่ใช่ของง่ายที่จะให้คุณภาพดีที่สุดในตลอดช่วง ถ้านี่เป็นการทดสอบเลนส์ระดับเกรดโปรเหยียบเมฆละก็มันต้องดูธรมดาแน่เลย ดังนั้นอย่าลืมว่านี่คือเลนส์ซูมเอนกประสงค์ 16-300mm นะครับ

สิ่งสำคัญที่ผมมองเห็นอีกอย่างหนึ่งก็คือ ไฟล์ภาพที่ต้องนำไปตกแต่งในคอมพิวเตอร์ต่อ ซึ่งถ้าไฟล์ที่ได้จากกล้องและเลนส์ถ่ายทอดรายละเอียดออกมาได้ไม่ดีพอแล้วละก็ยิ่งแต่งภาพก็จะยิ่งเละเข้าป่าเข้าดงไปเลย แต่ไฟล์ที่ได้จากเลนส์ตัวนี้ยังคงเก็บรายละเอียดมาได้ดี สามารถตกแต่งต่อได้อีกไม่น้อย เรียกว่าทำแล้วภาพไม่ค่อยช้ำเหมือนภาพจากเลนส์คุณภาพต่ำ

ถ้าคุณเคยเข็ดเขี้ยวกับไฟล์ภาพจากเลนส์ประเภทนี้มาแล้ว นี่อาจจะถึงเวลาที่คุณต้องคิดใหม่อีกที

ข้อดีที่ควรระวัง

เลนส์ตัวนี้มีระยะซูมไกลที่สุด 300mm ซึ่งมันเป็นข้อดีต่อการถ่ายภาพในหลายๆ ประเภท โดยเฉพาะภาพแคนดิดหรือภาพข่าวในที่ซึ่งมีปริมาณแสงมากพอสมควร แต่ถ้าคุณคิดจะถ่ายภาพแบบลากชัตเตอร์นานโดยใช้ระยะ 300mm ละก็ คุณต้องอยู่ในที่ซึ่งนิ่งสนิทปราศจากลมพัดและห้ามแตะต้องตัวกล้องแม้แต่น้อยนิด เพราะด้วยความที่มันเป็นเลนส์เล็กแต่ยืดระยะเลนส์ออกไปได้ยาวมากในขณะที่จุดยึดกับขาตั้งกล้องจะอยู่ใต้ตัวกล้อง แรงกระเทือนเพียงเล็กน้อยก็ทำให้ภาพเกิดอาการสั่นได้มาก ต่างจากเลนส์ใหญ่ที่มีคอลล่าร์รับน้ำหนักกลางตัวเลนส์ซึ่งจะทำได้ดีกว่าอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นจงระวังในเรื่องนี้เอาไว้เมื่อคิดจะลากชัตเตอร์บนขาตั้งกล้องที่ระยะ 300mm ด้วยเลนส์ตัวนี้ เพราะส่วนมากแล้วภาพมักจะเบลอจากการสั่นไหวนั่นแหละ (อย่าลืมว่าเราต้องปิดระบบป้องกันภาพสั่นไหวเมื่ออยู่บนขาตั้งกล้อง)

บทสรุป

ผมอยู่กับเลนส์ตัวนี้ราวๆ 10 วัน แน่นอนครับว่าไม่อาจหาญฟันธงข้อดีข้อเสียอะไรออกมาได้ชัดเจนเป๊ะป๊ะ แต่สิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือของทุกอย่างในโลกนี้ย่อมจะมีข้อดีและข้อเสีย ซึ่งข้อเสียของเลนส์ตัวนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับหลายๆ ท่าน แต่ก็เป็นเรื่องใหญ่สำหรับหลายๆ ท่านเช่นกัน

B016 เปิดราคาขายเป็นเงินบาทไทยอยู่ที่ 25,990.- นั่นก็คือมันมีค่าตัวสูงกว่ารุ่นพี่ 18-270mm B008 อยู่ราวๆ หมื่นบาทในขณะที่เขียนบทความนี้ ซึ่งถ้านั่นไม่ใช่ปัญหาของคุณผมก็แนะนำว่าลืม B008 ไปเสียแล้วตัดสินใจที่ B016 ได้เลย แต่ถ้ามันเป็นเรื่องใหญ่ผมก็ขอให้คุณลองชั่งน้ำหนักดูว่าข้อที่แตกต่างทั้งหมดนั้นมันคุ้มกับที่คุณจำต้องควักจ่ายเพิ่มไปหรือเปล่า? ซึ่งตรงนี้ผมบอกไม่ได้จนกว่าผมจะเป็นตัวคุณเองซึ่งมันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว

แต่ถ้าเป็นผมนะ …แบบว่าถ่ายภาพกึ่งเอาจริงทั้งใช้งานเลยหรือแต่งภาพต่อ เมื่อเทียบคุณภาพกับค่าตัวถ้ามีเงินสองหมื่นกลางๆ แล้วกำลังมองหาเลนส์ซูมอเนกประสงค์ชนิดตัวเดียวเที่ยวทั่วกาแล็คซี่ประเภทนี้อยู่ละก็ เจ้า B016ต้องโดนผมสอยแน่!

 

ปิยะฉัตร แกหลง

Nextopia

20-5-2557

32

ขอบคุณ : บริษัท อีสท์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด สำหรับเลนส์ทดสอบ

TAMRON 16-300mm F/3.5-6.6 Di II VC PZD Macro (B016)

http://www.eep.co.th

 

Comments

comments

You may also like...