XT Review : SAMYANG 14mm F/2.8 “EF” …กว้างและดี มีเงินเหลือ!

 

ใช้ Canon DSLR และกำลังมองหาเลนส์มุมกว้างอยู่ใช่ไหม? สู้ราคาเลนส์ค่ายไม่ไหวแต่อยากได้ของดีใช่ไหม? อยากได้ไวแสงด้วยใช่ไหม? อีกทางเลือกหนึ่งของคุณคือเจ้าตัวนี้แน่ๆ!

en_lens-feature23-01.L

เอาจริงๆ นะ…ผมไม่เคยคิดจะใช้เลนส์ชื่อยี่ห้อไม่คุ้นนี้เลย

ผมว่าคุณเองก็คงรู้สึกเหมือนผมนี่แหละ ชื่อออกแนวนี้แลดูเสี่ยงๆ เรื่องคุณภาพยังไงชอบกลใช่ไหมล่ะ?

แม้ชื่อ “ซัมยาง” (ไม่แน่ใจว่าผมออกเสียงถูกต้องหรือเปล่านะ) – SAMYANG จะชวนให้รู้สึกถึงแผ่นดินใหญ่ แต่แท้ที่จริงแล้วนี่คือเลนส์ที่มาจากแดนกิมจิ-เกาหลีใต้ต่างหาก

ก่อนจะลองเลนส์ตัวนี้ ผมเลยต้องไปค้นหาเสียก่อนว่าชื่อ “SAMYANG” มีดีอะไรให้เราต้องสน? มีอะไรให้เรามั่นใจต่อการพูดถึงบ้าง?

…ได้เรื่องสิครับ!

ตอนแรกก็เข้าใจว่าเป็นแบรนด์ที่เพิ่งเกิดมาได้ไม่นาน แต่แท้ที่จริงแล้ว SAMYANG มีอายุทางธุรกิจทางด้านสายงาน Optic มาแล้วกว่า 40 ปี (ตั้งแต่ปี 1972 นู่นแน่ะ) โดยในยุคแรกนั้นเค้าออกแบบและผลิตเลนส์สำหรับงาน CCTV (กล้องวงจรปิดนั่นแหละ) ในระดับส่งออกจนได้รางวัลยอดเยี่ยมระดับประเทศ และเริ่มเข้าสู่การผลิตเลนส์สำหรับงานถ่ายภาพในปี 2008 กับเลนส์รุ่นแรก 85mm F/1.4 และตามมาด้วยอีกหลายสิบรุ่น ทั้งในเกรดมาตรฐานและระดับที่เรียกว่า “Premium”

A New Perspective – The History of Samyang Optics from XEEN on Vimeo.

แม้กระทั่งเลนส์ “Cine” สำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์ก็ยังมีทั้งเกรดทั่วไปและเกรดโปร ซึ่งมีหลายรุ่นที่คว้ารางวัลยอดเยี่ยมในระดับโลกมาแล้วด้วย

Samyang Optics Introduction from XEEN on Vimeo.

โดยเค้าตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะต้องเป็นผู้นำในการผลิตเลนส์ในโลกนี้ให้ได้…กลายเป็นว่า SAMYANG นี่ต้องจัดว่าไม่ธรรมดาซะแล้วสิแฮะ

 

เลนส์ที่ผลิตขึ้นมาเหล่านั้นเป็นเลนส์ Manual Focus ที่ต้องอาศัยความใจเย็นละเมียดละไมดื่มด่ำสุนทรียภาพในการใช้งาน จนกระทั่งในระยะหลังนี้เองที่มีการพัฒนาเลนส์ในระบบออโต้โฟกัสเข้ามาเพิ่มในสายงานที่ต้องการความรวดเร็วด้วย

 

ซึ่งเลนส์ที่เรากำลังจะพูดถึงนี้ก็เป็น “รุ่นแรกสุด” จาก SAMYANG สำหรับกล้อง Canon ระบบเม้าท์ EF ที่มีคุณสมบัติของโฟกัสอัตโนมัติติดตั้งพร้อมมาในตัว

 

K-Lens ตัวนี้จะดีแค่ไหน? เดี๋ยวก็รู้!

Untitled-1

• 14mm F/2.8 EF

“มุมกว้าง” มักจะเป็นอะไรที่นักถ่ายภาพฝันถึง เลนส์มุมกว้างมากจึงเป็นที่สนอกสนใจของนักถ่ายภาพทั้งในระดับทั่วไปและในระดับซีเรียสจริงจัง ซึ่งระดับมืออาชีพก็ไม่พ้นข้อนี้ไปได้เช่นกัน

ปัญหาก็คือ ถ้าไม่แพง มันก็มักจะมีระดับคุณภาพของภาพที่เรียกว่ากว้างเฉยๆ หวังอะไรมากไม่ค่อยได้นัก แต่ถ้าจะหวังแบบเอาดีได้ในทุกด้านรวมไปถึงความไวแสงด้วย มันก็มักจะแพงจนขนลุกชูชัน! บางทีก็จะแพงกว่าตัวกล้องระดับเจ๋งๆ ซะอีก…โลกมักโหดร้ายกับตากล้องเสมอ

มีไหมล่ะ…เลนส์มุมกว้างในฝันที่ราคาพอรับได้แต่ไฉไลไปทุกด้านน่ะ?

ราคาเฉียดสามหมื่นบาท ถ้ามันคุณภาพดีก็ต้องถือว่าไม่แพง ถ้าไวแสงด้วยก็ต้องจัดว่าถูก และถ้ามันหน้าตาหล่อเหลาด้วยก็ต้องเรียกว่าวันที่ฝันเป็นจริงได้มาถึงแล้ว!

samyang_14mm_horz

ก่อนหน้านี้ประมาณสักหนึ่งปี เลนส์ 14mm F/2.8 ของ SAMYANG ได้ออกสู่ตลาดมาแล้ว แต่เป็นในเวอร์ชั่น “FE” สำหรับกล้อง Sony E-Mount ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ค่อนข้างดีมาก ทั้งในแง่คุณภาพของภาพและความคุ้มต่อราคา โปรสายสีส้มฟันธงกันขาดเป็นริ้วๆ ว่ามันแจ่มไม่มีใครเกิน ทั้งสีสัน, ความคมชัด, การเก็บรายละเอียดในภาพที่มีความเปรียบต่างสูง, ความเร็วของระบบโฟกัสอัตโนมัติ รวมไปถึงการตอบสนองต่อเซนเซอร์รับภาพบ้าพลังระดับ 42MP มันก็ยังให้ความคมชัดสูง คมบาดคอกันเลยทีเดียว

ต้นปี 2018 SAMYANG ประกาศเปิดตัวเวอร์ชั่น “EF” (อย่าสับสน เพราะมันสลับอักษรกัน) สำหรับกล้อง Canon ออกมาบ้าง หลังจากที่ประสบความสำเร็จกับเวอร์ชั่น FE มาแล้ว

ซึ่ง “EF” ย่อมหมายถึงว่ามันใช้กับเซนเซอร์รับภาพ Full Frame ได้นั่นเอง

 

• Special Glass

ต้องถือว่าการออกแบบและผลิตเลนส์มุมกว้างพิเศษโดยให้มีคุณภาพดีนั้นเป็นอีกหนึ่งเรื่องยากในโลก ดังนั้นเลนส์ทางยาวโฟกัส 14mm ที่มีองศาการรับกว้างกว้างถึง 116.6 องศานั้นต้องถือว่าเป็นเรื่องยาก (กว้างกว่าเวอร์ชั่น FE ที่ 113.9 องศาเล็กน้อย)  เพราะคุณจะต้องเจอกับปัญหาข้อด้อยทางแสงร้อยแปดพันประการให้แก้ ไม่งั้นภาพมันก็จะบิดเบี้ยวบ้าง แสงฟุ้งแสงแฟลร์สีเหลื่อมหลอกหลอนบ้าง ภาพโค้งไปโค้งมาและหาความคมชัดไม่ได้บ้าง ล้วนเป็นเรื่องเสียอารมณ์ทั้งนั้น

Untitled-3

ดังนั้นคุณจะนึกถึงแค่เลนส์นูนเลนส์เว้าเฉยๆ ก็ไม่ได้ ต้องมีชิ้นเลนส์พิเศษเข้ามาร่วมแก้ปัญหาเหล่านี้

เลนส์รุ่นนี้ใช้ 15 ชิ้นเลนส์ จัดแบ่งเป็น 10 กลุ่ม ในจำนวนนั้นมีชิ้นเลนส์ชนิดพิเศษรวมอยู่ด้วย คือ ชิ้นเลนส์ชนิด Aspherical จำนวน 2 ชิ้น, Extra-low dispersion 1 ชิ้น และ Hi-refractive อีก 4 ชิ้น รวมเป็น 7 สิงห์ประจัญบานเพื่อรับงานสารพัดปัญหาแสงพอดี

Untitled-4

แถมด้วยการเคลือบผิวเลนส์แบบ “Ultra Multi Coating” (UMC) จากประสบการณ์อันยาวนานกว่า 40 ปีของ SAMYANG มาให้ด้วย

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อคุณภาพของภาพในระดับสูงลิบ จากจุดกลางไปยันขอบภาพกันเลย

โม้มาเยอะแล้ว…ดูของจริงกันบ้างดีกว่า

 

****************************************

 

• กายภาพ

บอกได้เลยว่าวัสดุที่ใช้นั้นก็ดูทั่วไปไม่หวือหวามากแต่ดูดีใช้ได้ งานประกอบเนี๊ยบดูแน่นหนามีราคาและแข็งแรงมั่นคง ให้ฟิลลิ่งในการจับถือที่ดูมั่นคง

ฮูดในตัวทรงกลีบดอกไม้ เลนส์ชิ้นหน้านูนออกมาในระดับเดียวกับกลีบฮูดด้านสั้น ดังนั้นลืมเรื่องฟิลเตอร์ปกติไปได้เลย

Untitled-5

ท้ายเลนส์เป็นโลหะสวยงามดูดีไม่แพ้เลนส์แพงๆ และดูท่าทางว่ามันจะแข็งแรงทนไม้ทนมือใช้ได้เลยทีเดียว

เลนส์รุ่นนี้ออกแบบมาเพื่อรับมือกับสภาพของภาคสนามด้วย จึงมีคุณสมบัติป้องกันพวกความชื้น ฝุ่นละอองที่จะเล็ดลอดเข้าสู่ตัวเลนส์ แน่นอนว่าที่ด้านท้ายเลนส์ย่อมต้องมีวงแหวนยางเพื่อป้องกันช่วงรอยต่อระหว่างกล้องและเลนส์ไม่ให้สารพัดสิ่งไม่พึงประสงค์นี้เล็ดลอดเข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาต

Untitled-6

บนกระบอกเลนส์มีสวิทช์แค่ตัวเดียวเพื่อปรับระบบโฟกัสระหว่าง AF/MF เท่านั้น

Untitled-7

• Field test…มาลองภาคสนามกันดู

แม้ว่าเราจะอยู่ในยุคของกล้องดิจิตอลที่เราสามารถนำไฟล์ภาพถ่ายมาปรับแต่งได้อย่างกว้างขวางยิ่งกว่ายุคก่อน แต่ต้นทางอย่าง “เลนส์” ก็ยังคงมีความสำคัญอยู่ดี เพราะลักษณะของแสงที่จะสร้างออกมาเป็นภาพถ่ายนั้นต้องผ่านมันเข้ามาทั้งสิ้น

เลนส์ดีก็จะให้ภาพที่มีคุณภาพดี เลนส์แย่ก็จะให้คุณภาพของภาพที่แย่ด้วย

เลนส์แต่ละตัวนั้นจะมี “บุคคลิก” หรือ Character ของมัน เช่น คม สีสัน คอนทราสต์ ฯลฯ ซึ่งทำให้เราสามารถพิจารณาเลือกใช้ให้เหมาะกับงานแต่ละแบบได้ตรงไปตรงมา แต่สำหรับการใช้งานกว้างๆ ทั่วไปแล้ว เลนส์ที่ให้ความ “เป็นกลาง” จะยืดหยุ่นต่อการใช้งานมากที่สุด โดยเฉพาะเมื่อต้องนำไฟล์ภาพนั้นมาทำการตกแต่งเพิ่มเติม

ซึ่งภาพจากเลนส์มุมกว้างนี่แหละที่มักจะไม่ค่อยได้จบหลังกล้อง ต้องมีการตกแต่งเพิ่มเติมเสมอ อย่างน้อยก็คือการปรับแต่งสีสัน

Samyang_1

เท่าที่ผมได้ทดลองใช้งานเลนส์รุ่นนี้มาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ก็บอกได้เลยว่าเลนส์รุ่นนี้มีบุคคลิกของ “ความเป็นกลาง” โดยแท้ สีสันไม่ฉูดฉาดสะดุดตา ไม่ได้คมชัดเป็นใบมีดโกน Contrast หรือ Clarity ก็ไม่กระชากใจมากนัก

แต่นี่แหละครับ คือเลนส์ที่ให้ภาพซึ่งเหมาะกับการนำไปตกแต่งเพิ่มเติมโดยแท้

Samyang_2

ลองนึกภาพว่าไฟล์ที่สีสันฉูดฉาดมาแล้ว ใกล้จะเต็มอิ่มของมันแล้ว คุณจะเพิ่มความสดหรือดัดแปลงมันมากนักไม่ได้ เพราะเดี๋ยวภาพก็จะ “ช้ำ” ไป เหมือนกับที่ไฟล์ภาพซึ่งบรรดาเว็บสต๊อคทั้งหลายเค้าต้องการนั่นแหละครับ ภาพที่ดูเป็นกลางๆ ที่นำไปทำต่อได้ก็จะมีโอกาสได้รับการพิจารณามากกว่า ในขณะที่ภาพซึ่งตกแต่งอย่างสวยงามเต็มที่แล้วกลับมีโอกาสน้อยกว่า

เพราะอาจจะไม่ตรงกับที่คนทำงานเค้าอยากได้ไปปรับแต่งยังไงล่ะครับ ปรับได้อีกนิดๆ หน่อยๆ เท่านั้นเอง

Samyang_3

ตอนแรกผมก็ไม่ค่อยตื่นเต้นกับภาพที่ได้จากเลนส์รุ่นนี้สักเท่าไหร่นะครับ เพราะก็ด้วยบุคคลิกความเป็นกลางอย่างที่ว่านั่นแหละ สะดุดตาอยู่นิดหน่อยที่มันให้ภาพที่ดูอิ่มดีในระดับที่พอใช้งาน แต่เมื่อนำภาพมาตกแต่งเพิ่มเติมแล้วดึงกันมันส์เลย ให้ความยืดหยุ่นสูงจริงๆ

แล้วถ้าเราไม่ได้คิดจะนำภาพมาตกแต่งต่อล่ะ? คุณก็ปรับแต่งคำสั่งปรับปรุงภาพในกล้องเลยยังไงล่ะครับ อย่างตัวนี้เป็นรุ่นที่ใช้กับกล้อง Canon คุณก็เลือกปรับ Picture Style เลย จะเพิ่มสีสันหรือความคมชัดไปจนกระทั่งคอนทราสต์อะไรก็ไม่ใช่ปัญหา

 

• คล่องตัว

แต่ในโอกาสแรกเลยที่ได้สัมผัส มันเป็นเลนส์มุมกว้างไวแสงที่เบามาก ยกกล่องขึ้นมาตอนแรกยังไม่แน่ใจเลยว่ามีเลนส์อยู่ข้างในหรือเปล่า?

Untitled-8

อันนี้ต้องเรียกว่าดีเลยเชียวแหละครับ น้ำหนักที่เบาก็จะทำให้เราไม่ต้องแบกน้ำหนักมาก ใช้งานคล่องตัว หัวขาตั้งขนาดเล็กยังเอาอยู่สบายๆ

 

ขนาดก็ไม่ได้ใหญ่มากครับ ยัดลงช่องไหนของกระเป๋ากล้องก็ได้ เอ…นี่เลนส์ F/2.8 จริงหรือเปล่าเนี่ย?

 

น้ำหนักของมันคือ 485 กรัมเท่านั้นเองครับ ไม่ถึงครึ่งโล

 

• คุณภาพของภาพ

ไอ้พวกนี้นี่แหละครับคือตัวปัญหาสำหรับเลนส์มุมกว้าง เพราะเลนส์ราคาเกรดธรรมดาทั่วไปนั้นก็มักจะให้มุมกว้างมาแต่คุณภาพของภาพก็ธรรมดาที่คาดหวังอะไรไม่ได้มากมายนัก ก็เป็นเรื่องปกติตามต้นทุนนั่นแหละครับ

การออกแบบเลนส์มุมกว้างก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจะมีปัญหาทางแสงให้ต้องแก้กันมากมาย ยิ่งแก้มากก็หมายความว่าต้องมีชิ้นส่วนพิเศษกันมาก ตันทุนก็สูงขึ้นไปเรื่อยๆ เลนส์ประเภทนี้ที่เน้นคุณภาพก็เลยมักจะแพงอย่างที่เราขนลุกขนพองกัน

ตอนแรกผมก็ไม่ได้หวังอะไรจากเลนส์มุมกว้างพิเศษ (แถมไวแสงอีกต่างหาก) ที่ราคาสองหมื่นเกือบสามหมื่นนี้สักเท่าไหร่นัก โอเค มันอาจจะดีแค่ในระดับกลางๆ เพราะอย่างน้อยก็ใช่ว่าราคาจะถูก แต่พอเทียบกับเลนส์เทพทั้งหลายแล้ว เออแฮะ มันถูกไปเลย

เอาเข้าจริงมันกลับไม่ธรรมดาสิครับ ตะกี้ผมบอกไปว่ามันมีความเป็นกลางสูง ให้ความยืดหยุ่นต่อการปรับแต่งภาพได้ดี แต่ที่น่าตกใจก็คือ ข้อด้อยในภาพของมันแทบจะไม่เจอ!

Samyang_4

• สีเหลื่อม

เรื่องที่หนึ่ง ปัญหาโลกแตกของเลนส์มุมกว้างพิเศษ “สีเหลื่อม” CA-Chromatic Aberration ที่เหลื่อมม่วงบ้างเขียวบ้างตามขอบวัตถุ โดยเฉพาะตรงส่วนที่ตัดกับความสว่างมากๆ นั้น เลนส์บางตัวนี่ดูแล้วนึกว่าเป็นภาพสามมิติไปเลยทีเดียว

ปัญหาสีเหลื่อมนี้จะเกิดให้เห็นเมื่อขอบของวัตถุมีอาการมืดและตัดกับพื้นหลังที่สว่าง โดยเฉพาะบริเวณขอบ-มุมภาพที่มีการเบี่ยงเบนของแสงสูงสุดตามประสาเลนส์มุมกว้างพิเศษ แต่เจ้าเลนส์ตัวนี้กลับมีปัญหานี้น้อยมาก หรือบางทีก็กลับไม่มีเลย! ทำได้ไง!?

Samyang_6

Samyang_5

เรื่องนี้คุณอาจจะนึกว่าไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เครื่องมือแก้ไขในซอฟต์แวร์ก็มี แต่ไม่มีมาตั้งแต่แรกน่ะดีกว่าครับ เพราะบางครั้งถ้าลองสังเกตดูคุณจะพบว่า ที่สีเหลื่อมตามขอบหายไปเมื่อแก้ด้วยซอฟต์แวร์นั้น มันจะกลายเป็นเส้นสีขาวขึ้นมาแทน ซึ่งบางทีมันก็ทำให้ภาพดูเหมือนความคมชัดลดลง นั่นก็เพราะซอฟต์แวร์เค้าใช้วิธีลดสีตรงนั้นลงต่างหาก

แต่ถ้ามันไม่มีมาตั้งแต่แรกเลยก็แปลว่าคุณภาพของภาพย่อมดีแน่ๆ เพราะมันหมายถึงเค้าจัดการแก้ไขตั้งแต่ในเรื่องของชิ้นเลนส์พิเศษและการโค้ทติ้งแล้ว มันจึงไม่มีปัญหานี้ตั้งแต่แรก

แล้วถ้าปัญหานี้มีปรากฏในคลิปวีดีโอที่คุณถ่ายทำล่ะ คุณจะแก้ไขไฟล์วีดีโอนั้นยังไง?

นี่คือเรื่องน่าทึ่งอย่างแรกสำหรับเลนส์รุ่นนี้ที่ผมเจอครับ แค่เรื่องเดียวนี้ก็ทำให้เริ่มรู้สึกชอบใจมันแล้วล่ะ

• แฉก

ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องขอขาดบาดตายสำหรับเลนส์มุมกว้างใช่ไหมล่ะครับ? เลนส์มุมกว้างที่มักจะนำไปถ่ายภาพทิวทัศน์นี้ผู้คนก็มักจะถามขอดูแฉกก่อนล่ะ ถ้ารุ่นไหนออกแบบมาแล้วให้แฉกที่ไม่สวย ก็เป็นไปได้ที่มันจะขายได้ไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่

ส่วนเลนส์รุ่นราคาประหยัดนั้นก็แทบจะลืมเรื่องนี้ไปได้เลย เพราะก็ต้องว่ากันตามต้นทุนนั่นแหละครับ

เลนส์รุ่นนี้ใช้กลีบรูรับแสงจำนวน 7 ใบ จึงแตกแฉกแสงยามเมื่อบีบรูรับแสงแคบออกมาทั้งหมด 14 แฉก แต่ผมก็ยังประหลาดใจกลับเจ้าเลนส์ตัวนี้อยู่เหมือนกัน เพราะบางทีแฉกมันก็มีลักษณะแหลม บางทีก็มีลักษณะป้านบานออก เลยยังไม่แน่ใจนักว่ามันเป็นยังไงกันแน่?

Samyang_7

Samyang_8

แต่เท่าที่พบโดยมากเท่าที่ใช้งานแล้ว มันมักจะออกแนวป้านบานออกมากกว่า

ข้อดีคือ มันเป็นเลนส์ที่ผลิตแฉกได้แม้ไม่ต้องเอาไปหมิ่นเหม่กับวัตถุอื่นใด เช่น การถ่ายภาพพระอาทิตย์เพียวๆ

Samyang_9

รุ่นนี้ใช้ F แคบสุดได้ที่ F/22 ครับ แต่คุณภาพความคมชัดของมันจะดีที่สุดที่แถวๆ F/5.6-F/11 นะ

 

• แฟลร์ ฟุ้ง หลอน

ถ้าสวนแสงละก็เป็นได้เจอศัตรูตัวฉกาจของเลนส์มุมกว้างเหล่านี้แน่ๆ

แสงแฟลร์แสงหลอกแสงหลอนเหล่านี้ล้วนเป็นตัวการทำลายคอนทราสต์และความคมชัดของภาพถ่ายทั้งสิ้นครับ (แต่บางคนก็ชอบนะ) ซึ่งการที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ก็อยู่ที่การออกแบบและเคลือบผิวชิ้นเลนส์เพื่อลดปัญหาเหล่านี้ นอกจากนี้มันยังเป็นตัวตัดสินว่าจะสะท้อนแสงเท่าไหร่ เกิดการสูญเสียแสงไปมากเท่าไหร่ด้วย

การเคลือบผิวเลนส์จึงมีความสำคัญมาก เมื่อคุณหยิบหน้าเลนส์ตัวนี้มาส่องดูจะพบว่ามันสะท้อนภาพของตัวคุณเองได้ไม่ชัดเจนมากนัก นั่นแปลว่ามันไม่ค่อยมีการสะท้อนแสง ซึ่งหมายความว่าแสงจะผ่านเข้าไปสู่ภายในได้ดี ไม่สูญเสียจากการสะท้อนกลับออกไปมากนัก

Samyang_10

แปลว่าระบบการเคลือบผิวเลนส์รุ่นนี้ทำมาได้ดีไม่น้อยเลย ซึ่งเมื่อดูจากในภาพที่จงใจสวนแสงแล้วก็จะเห็นว่ามันเกิดแฟลร์หรือแสงฟุ้งในระดับที่น้อยเมื่อเทียบกับมุมรับภาพกว้างๆ ของมัน เพราะปกติถ้าเจอแบบนี้ภาพก็จะทั้งหลอกทั้งหลอนหาความคมชัดไม่ได้เลยทีเดียว (แต่ที่เห็นเป็นดวงๆ โบเก้นั่นคือฝุ่นที่เกาะหน้าเลนส์ครับ)

อันนี้ต้องปรบมือให้ “Ultra Multi Coating” UMC ของ Samyang เค้าเลยทีเดียว

 

• บิดๆ เบี้ยวๆ

ก็เป็นอีกเรื่องหนักใจของบรรดาเลนส์มุมกว้างพิเศษทั้งหลาย กับความบิดเบี้ยวผิดเพี้ยนของบรรดาเส้นตรงของวัตถุทั้งหลายในภาพ ยิ่งรับมุมภาพได้กว้างมากเท่าไหร่โอกาสบิดเบี้ยวของเส้นเหล่านี้ก็จะยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น

เลนส์มุมกว้างบางตัวนี้ให้เส้นโค้งมาจนแทบจะเป็นน้องแท้ๆ ของเลนส์ตาปลาเลยเชียวล่ะ

เลนส์รุ่นนี้มีการใช้ชิ้นเลนส์พิเศษที่มีการแก้ไขเรื่องความบิดเบี้ยวของภาพและการคลาดทรงกลมเข้ามาด้วย มันจึงแก้ไขปัญหานี้ได้ดีน่าพอใจ ถึงแม้จะยังมีอาการป่องกลางอยู่บ้างแต่มันก็ยังไม่ถึงกับเยอะสักเท่าไหร่

Samyang_11

• โบเก้

แหม เลนส์มุมกว้างนี่จะต้องไวแสงไปทำไม เค้าใช้ F แคบๆ กันทั้งนั้นแหละ…

ข้อดีของการเป็นเลนส์ไวแสงก็คือ มันช่วยคุณจับโฟกัสวัตถุในที่แสงน้อยได้ดีด้วยยังไงล่ะครับ และก็ช่วยให้ได้ภาพในที่แสงน้อยด้วย กล้องสมัยนี้ก็เก่งกันเหลือเกิน แสงนิดๆ หน่อยๆ ก็จับโฟกัสได้ละ ทีนี้ก็อยู่ที่เลนส์นี่แหละว่าจะไหวหรือเปล่า

ระดับ F/2.8 แล้วขอบอกว่า…สบาย

ตะกี้นี้มันก็ทำแฉกได้ดีแล้ว แต่เมื่อเป็น F กว้างมันก็ยังอุตส่าห์ให้โบเก้ที่น่าประทับใจได้อีก ดังนั้นถ้าคุณเกิดนึกอยากจะถ่ายภาพบุคคลมุมกว้าง (เช่นในที่แคบๆ) คุณก็จะวางใจในลักษณะของโบเก้ที่กลมดิกของเลนส์รุ่นนี้ได้เลย

Samyang_12

ที่สำคัญคือ ไม่มีลายก้นหอยยึกยืออยู่ในโบเก้ให้ผู้คนกราบไหว้สักการะบูชาแน่นอน!

 

• Close-up

เฮ้ย! มันเป็นเลนส์มุมกว้างที่จับโฟกัสใกล้สุดได้ใกล้มากมายครับ จากระนาบเซนเซอร์ไปจุดโฟกัสใกล้สุดเพียงแค่ 20 ซม. เท่านั้นเอง ดูภาพรถไฟของเลนส์ข้างบนนี้ได้เลย

แบบนี้ก็สวยสิ! ถ่ายภาพวัตถุชิ้นเล็กๆ ให้ดูน่าประทับใจเจ้าภาพซะหน่อยดีกว่า อ่ะ…ใส่มุมโบเก้เข้าไปด้วยอีกต่างหาก แหม ลดภาระช่างภาพรับงานได้เยอะเชียวนะนี่

 

• ออโต้โฟกัสซะด้วย

มันเป็นเลนส์ออโต้โฟกัสสำหรับ Canon รุ่นแรกของยี่ห้อนี้ครับ …รุ่นแรกแล้วทำงานเป็นยังไงล่ะ?

“เร็วและเงียบกริบ” นั่นแหละครับ ตอนแรกผมก็ไม่ได้หวังอะไรกับความเร็วของระบบออโต้โฟกัสของเลนส์ประเภทนี้สักเท่าไหร่ แต่พอนึกถึงลักษณะการถ่ายภาพของผู้คนในยุคปัจจุบันนี้แล้วก็ต้องเร็วเข้าว่านั่นแหละ ไม่งั้นจับโฟกัสภาพบางอย่างไม่ทันแน่

Samyang_13

และก็ล้นมาถึงการถ่ายวีดีโอ ยิ่งกล้องสมัยนี้มีระบบจับโฟกัสที่ใบหน้าด้วยแล้ว แหม่ ถ้าระบบนี้ทำงานไม่เร็วและเสียงดังเป็นม้าแข่งละก็…จบข่าว

คุณหมุนโฟกัสเองได้ตลอดเวลาจากวงแหวนปรับโฟกัสขนาดใหญ่บนกระบอกเลนส์ได้ครับ แต่ตรงนี้ผมรู้สึกว่ามันหลุนได้ลื่นและเบามือไปหน่อย ความหนืดมีน้อยไปนิด บางทีอาจจะพลาดไปโดนโดยไม่ตั้งใจและโฟกัสหลุดไปก็เป็นได้ แต่บางคนก็อาจจะชอบครับ แล้วแต่ความถนัดที่มีไม่เหมือนกัน

• สรุป

Samyang_14

จากการทดสอบใช้งานที่แม้ว่าจะไม่ได้ยาวนานจนรู้ทุกซอกหลืบของมันได้หมด แต่ด้วยลักษณะของภาพที่ได้ออกมาแม้ว่าจะด้อยกว่าเลนส์ราคาเรือนแสน แต่มันก็โชว์ฝีมืออกมาได้ในระดับที่น่าทึ่งอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างที่บอกไปแล้วครับว่ามันให้ไฟล์ที่มีความยืดหยุ่นสูงต่อการปรับแต่งมาก สามารถเก็บรายละเอียดในพื้นที่ของภาพออกมาได้ดีน่าประทับใจ

ที่ผมบอกว่ามันดูกลางๆ นี่ไม่ได้หมายความว่าภาพมันจะแบนๆ ดูไม่น่าสนใจแต่อย่างใดนะครับ คือถ้าจะเอาไปใช้งานเลยก็ยังได้ สีสันอยู่ในระดับที่ดี ความคมชัดและรายละเอียดดีมาก แต่ถ้าจะเอามาปรับแต่งต่อเพื่อเพิ่มสมรรถนะของภาพก็จะยิ่งแจ๋วเลย

Samyang_15

ความกระทัดรัดและน้ำหนักเบาของมันก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ ท่านใดที่อ่อนล้าจากการแบกเลนส์น้ำหนักมากๆ ก็โปรดพิจารณาเถิด

หน้าตาของมันอาจจะดูเฉยๆ ดูแล้วอยู่กึ่งกลางระหว่างเลนส์ไฮโซกับเลนส์บ้านๆ แต่ถ้าเป็นเรื่องคุณภาพของภาพละก็ ผมบอกได้ว่าเลนส์รุ่นนี้นำไปใช้ทำงานในระดับมืออาชีพได้สบายๆ เลยเชียวล่ะ

แหม…พูดไปพูดมาก็ชักจะติดใจอยู่เหมือนกันนะเนี่ย!

 

ข้อดี

• คุณภาพของภาพดีมาก ให้ความยืดหยุ่นต่อการปรับแต่งสูง

• ปัญหาแสงรบกวนต่างๆ มีน้อยมาก

• จัดการปัญหาสีเหลื่อมได้ดีมากถึงมากที่สุด

• น้ำหนักเบา ขนาดกระทัดรัด

• ออโต้โฟกัสทำงานได้รวดเร็วแม่นยำ

• โบเก้สวยมาก

 

ข้อเสีย

• ไม่มีสเกลบอกทางยาวโฟกัส

• วงแหวนปรับโฟกัสลื่นเบามือไปหน่อย

• ใช้ฟิลเตอร์ปกติไม่ได้เพราะหน้าเลนส์นูนออกมา แต่ก็มี Holder ที่นำมาใช้ร่วมกันเพื่อใช้ฟิลเตอร์แบบแผ่นได้ (ถ้าจำไม่ผิดจะเป็นของยี่ห้อ NiSi)

 

SAMYANG มีตัวแทนนำเข้า จัดจำหน่าย และดูแลงานบริการหลังการขายอย่างเป็นทางการโดยบริษัท “Camera Maker Co., LTD.” (http://www.cameramaker.co.th) ซึ่งคุณอาจจะไม่คุ้นชื่อนัก แต่บริษัทนี้ก็เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าอีกหลายรายการที่คุณรู้จักดีเช่น TechArt, NiSi Filter และอีกหลายๆ รายการในบ้านเรานั่นเอง

สนใจเลนส์รุ่นนี้ก็ติดต่อที่ร้านตัวแทนจำหน่ายกล้องและอุปกรณ์ชื่อดังในบ้านเราอย่าง Big Camera, Zoom Camera, World Camera, Power Buy, Digital2Home, RN Camera และอีกหลายแห่ง รวมไปถึงช่องทางออนไลน์อีกเพียบ

หรือติดต่อ Camera Maker โดยตรงที่ LINE ID : @cameramaker และ info@thecameramaker.com

 

…แล้วโลกกว้างๆ ระดับ 14mm ก็จะกลายเป็นของคุณ!

 

ปิยะฉัตร แกหลง

XT eMagazine

กุมภาพันธ์ 2561

 

 

Comments

comments

You may also like...