XG:G6 : Catched the move

 

Seagul_3_57

Canon EOS 6D • Tamron SP 150-600mm F/5-6.3 Di VC USD • @600mm • F/5.6 • 1/750 sec • ISO 400 • 5:47 PM

ใครเคยไปถ่ายภาพนกนางนวลที่บางปูแล้วก็คงจะเข้าใจอารมณ์ประมาณว่าจะถ่ายยังไง จะถ่ายแบบไหน จะเริ่มจากอะไรดี? นั่นก็เพราะทั้งความเร็ว ความยั๊วเยี๊ยะสับสนอลหม่านของฝูงนกนับพันๆ ตัวที่บินเป็นวงกลมฉวัดเฉวียนอยู่ในอากาศ มันเยอะเสียจนคนที่ดูด้วยตาเปล่ารู้สึกตื่นเต้นอลังการ แต่สำหรับคนถ่ายภาพแล้วมันโคตรจะยากถ้าจะถ่ายภาพให้ต่างจากชาวบ้าน และที่สำคัญก็คือถ้าอยากจะให้มันออกมาดี

เหมือนเดิมครับ เราก็ย่อมจะต้องให้ความสำคัญกับลักษณะของแสงก่อน ถ้าใครเคยไปบางปูตอนเย็นๆ แล้วก็คงจะนึกออก เมื่อเราเดินเข้าสู่สะพานพระอาทิตย์จะอยู่ทางฝั่งขวามือและแสงก็ย่อมจะมาจากทางขวามือแน่ๆ ดังนั้นทิศทางที่แสงจะสวยที่สุดบนตัวนกที่บินขนานกับสะพานอยู่นั้นเราก็ต้องหันหน้ากล้องในทิศทางเดียวกับสะพานเช่นกัน

ถ้าดูจากในภาพก็จะเห็นว่าแสงแดดยามเย็นสีเหลืองสาดเข้าด้านข้างตัวนก นั่นก็เป็นเพราะผมหันหน้ากล้องในทิศทางที่เข้าสู่สะพาน แสงก็เลยมีทิศทางที่ทำมิติกับตัวนกอย่างที่เห็น

…นั่นคือโจทย์แรกที่ผมคิด

คุณจะได้เห็นภาพลักษณะนี้ไม่มากหรอกครับ เหตุเพราะมันถ่ายค่อยข้างจะยากเอาเรืื่องเลยทีเดียวกับการที่ตัวแบบพุ่งเข้าหาหน้ากล้องด้วยความรวดเร็ว แถมด้วยนกอื่นๆ อีกนับร้อยนับพันที่บินตัดกันไปมาอย่างสับสนวุ่นวาย ปัญหาใหญ่ที่สุดก็คือเรามักจะจับโฟกัสมันไม่ค่อยได้ ดังนั้นเราก็จะได้เห็นภาพแบบด้านข้าง ภาพตามหลัง หรือภาพนกเกาะอยู่กับที่นิ่งๆ ซึ่งมันจะโฟกัสง่ายและถ่ายง่ายกว่ากันเยอะ แต่กับการบินกลางอากาศเข้าหาหน้ากล้องแบบนี้มันจะยากเอาการ

คราวนี้คุณต้องพึ่งคู่มือของกล้องแล้วล่ะ…วิธีการเป็นแบบนี้ครับ ปรับระบบโฟกัสอัตโนมัติไปเป็นแบบติดตามวัตถุ ซึ่งอันนี้กล้องของคุณจะเรียกว่าอะไรก็ต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมดูนะครับ ตัวอย่างเช่นของ Canon ก็จะเรียกว่า AI Servo ของ Nikon ก็จะเรียกว่า AF-C ของ Pentax เรียกว่า AF-C เช่นกัน ส่วนของ Sony ในระบบ SLT ก็จะเรียกว่า Continuous AF นอกจากนี้ก็ต้องไปหาเพิ่มเติมกันดู

ปรับใช้จุดโฟกัสที่จุดกลางจุดเดียว บางท่านอาจจะสงสัยว่าทำไมเราไม่ใช้จุดโฟกัสทั้งหมด? นั่นก็เพราะเรามีนกที่บินอยู่ด้านหนัาและด้านหลังจำนวนมากมาย ซึ่งจุดโฟกัสหลายจุดมันอาจจะไม่ให้ผลดีเท่าที่ควรเพราะมันจะช่วยกันจับนกเหล่านั้นมั่วไปหมด เว้นแต่ว่าคุณมีนกบินอยู่เดี่ยวๆ หรือรวมกันเป็นกระจุกในระยะห่าง อันนั้นก็จะเหมาะ แต่กับการบินยั๊วะเยี๊ยแบบนี้มันไม่เหมาะแน่ๆ

ที่นี้คุณต้องส่ายหน้ากล้องตามนกเป้าหมายครับไม่ใช่แค่รอที่จุดถ่ายภาพอย่างเดียว ก่อนที่มันจะบินมาเลียบสะพานเพื่อชิงโอกาสแห่งกากหมูนั้นมันจะต้องไปบินวนด้านนอกเพื่อตีวงเลี้ยวซะก่อน ให้คุณเลือกนกเป้าหมายตั้งแต่ที่มันเริ่มตีวง จับโฟกัสแล้วคุมหน้ากล้องส่ายตามตำแหน่งของมันมาเรื่อยๆ มันก็จะบินเข้ามาหาหน้ากล้องเรื่อยๆ คุณต้องคุมสมาธิให้ดี เมื่อมันอยู่ในโฟกัสแล้วก็กดฉับลงไป แล้วก็เริ่มไปตามตัวใหม่อีกที

ไม่ต้องใช้ซูมหรอกนะครับเพราะมันจะยิ่งเพิ่มความสับสนและเพิ่มขั้นตอนให้กับตัวคุณเองมากเข้าไปอีก วางตำแหน่งซูมตายตัวเฉพาะตรงจุดที่จะถ่ายภาพไปเลย

หลายท่านคงเข้าใจว่าถ้าเราใช้การถ่ายรัวๆ แบบกดพรืดๆ นั้นน่าจะดี อันนั้นก็อาจจะเป็นวิธีที่ดีหากคุณอาศัยโชคดวงเป็นหลัก ผมสนับสนุนให้คุณตั้งใจกดทีละภาพเมื่อมันเข้าจุดและเข้าโฟกัสจริงๆ เพราะถ้าคุณอาศัยความเร็วของกล้องเข้าช่วยเชื่อไหมล่ะครับว่าความตั้งใจในการจับจังหวะของคุณมันจะลดลงเพราะคุณกำลังเชื่อในกล้องแต่ไม่ได้เชื่อในตัวคุณเอง ก็เลยอาจจะต้องใช้เวลาและการภาวนาว่าขอให้ภาพออกมาดี แต่ถ้าคุณกดทีละภาพอย่างตั้งใจผมบอกเลยว่ามันจะยากและน่าหงุดหงิดยิ่งนักในช่วงแรก แต่เมื่อทำต่อไปเรื่อยๆ คุณจะเริ่มจับทางถูกว่าควรจะเอายังไงกับกล้องของคุณดี และผมเชื่อว่าคุณจะแม่นยำขึ้นเรื่อยๆ ด้วย

สำคัญที่สุดก็คือสมาธิและความตั้งใจนี่แหละครับ อาจจะใช้เวลาสักนิดนึงเพื่อสังเกตกิริยาของนกมันดูด้วยตาเปล่าสักหน่อย หาที่ยืนให้มั่นคง ยิ่งถ้ามีอะไรให้พิงได้ก็จะยิ่งดี ที่เหลือเราก็ต้องพึ่งดวงอีกนิดหน่อยในเรื่องของจังหวะและภาวนาอย่าให้มีนกมาบินตัดหน้าตัดหลังให้มากมายนักในจังหวะที่คุณลั่นชัตเตอร์ออกไป

ถ้าสิ่งที่บอกมาทั้งหมดนี้นิยามได้ว่า “ฝีมือ” คุณก็ต้องใช้ฝีมือกันพอสมควรเลยแหละ ไม่ใช่มีแค่เทคนิคการปรับตั้งกล้องเฉยๆ ซึ่งเทคนิคตรงนั้นผมก็บอกไปแล้วแต่ประสบการณ์จริงเป็นสิ่งที่คุณต้องออกไปหาเอง และบางทีอะไรที่ผมบอกมานี่อาจจะผิดหมดเลยก็ได้ถ้าคุณหาเทคนิคของตัวเองเจอ เผลอๆ มันอาจจะดียิ่งกว่าด้วยซ้ำไป …แล้วอย่าลืมมาเล่าให้ฟังบ้างล่ะ

ขยันต่อการฝึกฝนครับ นกนางนวลในกรอบสี่เหลี่ยมมันจะซักแค่ไหนกันเชียว!

ปิยะฉัตร แกหลง

 

 

Comments

comments

You may also like...