“พลุ” หรือดอกไม้ไฟ ใครๆ ก็ชอบภาพถ่ายแบบนี้ แล้ววิธีถ่ายภาพเขาทำกันอย่างไร? ล้อมวงเข้ามาเลยครับผมจะเล่าให้ฟัง
แทบจะไม่ต่างจากการถ่ายภาพเส้นแสงไฟหน้ารถอันยาวไกลบนท้องถนนในยามค่ำคืน คุณต้องลากชัตเตอร์เพื่อเปิดรับแสงนาน ให้กล้องได้บันทึกแสงสว่างนั้นเป็นเส้นยาวต่อเนื่องลงไปบนเซนเซอร์รับภาพ
…เช่นเดียวกับการถ่ายภาพแบบอื่นๆ วิธีการที่ผมจะเล่าให้ฟังนี้ไม่ใช่เรื่องตายตัว คุณสามารถปรับเปลี่ยนดัดแปลงไปได้สารพัดรูปแบบ ซึ่งนี่จะเป็นวิธีการที่ผมจะนำทางให้มือใหม่ผู้ยังจับทางไม่ถูกว่าควรจะเริ่มต้นอย่างไรดี? (จะเห็นว่าหลายๆ ภาพประกอบบทความนี้ใช้ค่าการเปิดรับแสงที่ต่างออกไป)
เอาค่าการเปิดรับแสงตั้งต้นไปก่อน :
Speed Shutter 8 sec. • F/13 • ISO 100
คุณจะเห็นว่าค่าสปีดชัตเตอร์นั้นอยู่ที่ 8 วินาที ก็เป็นอันแน่นอนว่าต้องใช้ขาตั้งกล้องกันละ เพราะเปิดรับแสงนานขนาดนี้ไม่มีทางถือกล้องด้วยมือเปล่าได้แน่ๆ
อุปกรณ์ตัวต่อมาที่ผมแนะนำก็คือ “สายลั่นชัตเตอร์“ ตัวนี้จะไม่ถึงกับบังคับ แต่ถ้ามีมันก็จะดีทั้งต่อการจับจังหวะและลดความเสี่ยงเรื่องอาการสั่นไหวได้มากถึงมากที่สุด คุณจะใช้นิ้วสดๆ กดปุ่มบนตัวกล้องโดยตรงก็ได้แต่ก็ต้องนิ่งมากพอ ผมไม่แนะนำให้ใช้ชัตเตอร์หน่วงเวลาสักเท่าไหร่เพราะเรื่องนี้มันเกี่ยวกับจังหวะของพลุด้วย เราควรจะลั่นชัตเตอร์ได้ตลอดเวลาที่ต้องการ ไม่ควรจะต้องมารอ 2 วิ 10 วิ อะไรแบบนั้น ซึ่งช่วงเวลาเพียงสั้นๆ นี้ก็อาจะทำให้คุณพลาดโอกาสการเป็นเจ้าของภาพถ่ายพลุงามๆ ได้เลย
ปรับกล้องไปที่โหมด “M” แล้วตั้งค่าอย่างที่บอกไปในอันดับแรก
จากนั้นปรับระบบโฟกัสของเลนส์ไปเป็นแบบ “Manual” แล้วหมุนหาโฟกัสเอาไว้ พลุขึ้นตรงไหนก็ปรับโฟกัสไปตรงนั้น ซึ่งอันนี้คุณควรทำในช่วงก่อนที่พลุจะยิงจริง ไม่ต้องห่วงว่าโฟกัสต้องเป๊ะตรงตำแหน่ง เพราะค่า F/13 จะช่วยคุมความชัดเอาไว้ให้คุณได้มากพอสมควร ปรับโฟกัสให้ใกล้เคียงตำแหน่งมากที่สุดเท่าที่คุณจะทำได้
…ทำไมต้องใช้โฟกัสแบบ Manual? ใช้ออโต้โฟกัสไม่ได้หรือ?
ขอบอกว่าไม่ควรครับ เพราะพลุไม่ได้ค้างอยู่บนฟ้าตลอดเวลาให้ระบบโฟกัสจับได้เสมอ ซึ่งถ้าคุณเปิดระบบนี้อยู่กล้องก็จะไม่สามารถถ่ายภาพได้หากยังจับโฟกัสไม่ได้ นั่นแปลว่าคุณอาจจะ “วืด” โอกาสการถ่ายภาพได้ ก็ในเมื่อพลุมันขึ้นในตำแหน่งที่รู้ล่วงหน้าอยู่แล้วทำไมเราไม่ปรับโฟกัสให้มันค้างเอาไว้ด้วยระบบ Manual เสียเลยล่ะ? รับรองว่าไม่มีอาการวืดแน่ๆ กดเมื่อไหร่ก็ลั่นเมื่อนั้น เว้นเสียแต่ว่าการ์ดเต็มแบตหมด อันนั้นก็ช่วยไม่ได้จริงๆ
อ้อ! ปิดระบบป้องกันภาพสั่นไหวเสียด้วยครับ เมื่ออยู่บนขาตั้งกล้องแล้วมันจะเป็นตัวการที่ทำให้ภาพสั่นซะเอง เราไม่จำเป็นต้องใช้มันอยู่แล้วนี่นา
(ถ้าสงสัยว่ามันเพราะอะไรกัน? เดี๋ยวไปอ่านตรงนี้ดูครับ > http://www.xtemag.com/home/ทำไมต้องปิดระบบกันสั่น/ )
ปิดระบบลดน๊อยส์ หรือ “Noise Reduction” ทั้งหลายของกล้องเสียด้วย เราไม่ต้องการมันในการจับจังหวะแบบนี้ อ่านเหตุผลที่เราควรต้องปิดได้ในบทความนี้ครับ > Dark Frame Subtraction
ก่อนการแสดงจริงคุณควรลองถ่ายภาพทดสอบเพื่อตรวจสอบสภาพแสงสักนิด ดูว่ามันออกมาดีหรือไม่อย่างไร? เพราะค่าที่ผมบอกนี้เป็นค่าแบบกว้างๆ ซึ่งต้องพิจารณาสภาพแสงตรงที่คุณถ่ายนั้นประกอบกัน หากมันมีแสงสว่างมากก็ปรับลดค่าการเปิดรับแสงลงมา เช่น บีบ F ให้แคบลงหรือลดเวลาการลากชัตเตอร์ให้สั้นลง ทั้งนี้ต้องดูจากสภาพจริงด้วย
และก็เผื่อไว้อีกนิดหน่อย เพราะเวลาที่พลุยิงขึ้นฟ้าจริงๆ มันก็จะมีแสงสว่างเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมันก็มาจากพลุนั่นแหละ
• ออกจากโหมด M
เวลาที่ถ่ายภาพพลุจริงๆ ผมจะไม่ได้ใช้โหมด M หรอกครับ (อ้าว!) แต่ผมจะใช้โหมด “B” ร่วมกับสายลั่นชัตเตอร์ เพราะบอกแล้วว่าเราต้องจับจังหวะของพลุ ซึ่งบางครั้งก็อาจจะสั้นยาวไม่เท่ากันได้อีก การใช้โหมด “B” ร่วมกับสายลั่นฯ ก็จะเปิดโอกาสให้ผมยืดหยุ่นเรื่องการลากชัตเตอร์ให้สั้นลงหรือยาวขึ้นได้ อาจจะยอมให้ภาพมืดกว่าเดิมนิดหน่อยหรือสว่างกว่าเดิมนิดหน่อย ซึ่งก็สามารถนำมาปรับแต่งภายหลังได้ แต่จังหวะเป็นสิ่งที่ตัดทอนหรือเพิ่มเติมลำบากกว่าเยอะ
โหมด M จะตรึงเวลาของสปีดชัตเตอร์แบบตายตัวเอาไว้ตามค่าที่เราปรับตั้ง สมมุติว่าเราตั้งไว้ที่ 8 วินาที แต่ถ้าเกิดในขณะที่ยังไม่ครบ 8 วินาทีนั้นเราเห็นว่าพลุอีกลูกซึ่งสวยกว่าเริ่มวิ่งขึ้นมา เราก็จะทำอะไรไม่ได้นอกจากนั่งชมและสมน้ำหน้าต่อการพลาดโอกาสของตัวเองไป แต่ถ้าเป็นโหมด B คุณก็แค่ปล่อยปุ่มแล้วเริ่มกดใหม่ให้ทัน
เห็นไหมล่ะว่า “B” ได้เปรียบกว่า…ข้อแม้ก็คือ คุณต้องมีสายลั่นชัตเตอร์ นั่นแหละครับคือเหตุผลที่ผมเริ่มที่โหมด M สำหรับภาพกว้างๆ ของเรา ทุกท่านจะได้ถ่ายภาพได้แล้วค่อยขยับขยายตามกันมา
• ใช้เลนส์อะไรดี?
จริงๆ แล้วข้อนี้ก็เหมือนกับการถ่ายภาพทิวทัศน์นั่นแหละครับ ใช้เลนส์ระยะอะไรก็ได้ที่เหมาะกับมุมภาพของคุณ มุมกว้างไปถึงเทเลฯ มาโครไปถึงตาปลา อะไรก็ได้ที่สามารถครอบคลุมพื้นที่ในระยะห่างของคุณได้ ถ้าอยู่ไกลมากคุณจะใช้เลนส์เทเลฯ ก็ได้ (และมันก็เหมาะมากด้วย) แต่ถ้าอยู่ใกล้ก็ต้องใช้เลนส์มุมกว้างเพื่อเก็บพลุให้ได้หมด แต่ที่ผมแนะนำก็คือ คุณควรหาทำเลวางกล้องที่มีระยะห่างสัก 2-300 เมตร ขึ้นไป เพราะในการแสดงพลุรายการใหญ่นั้นพลุมักจะขึ้นสูงมาก การที่คุณอยู่ใกล้มากเกินไปจะทำให้คุณไม่สามารถเก็บภาพได้ตั้งแต่พื้นดินไปจนถึงกลางอากาศได้หมด ซึ่งบางครั้งคุณอาจจะต้องอยู่ห่างออกไปเป็นกิโลเมตรเลยทีเดียว
• วิธีการถ่ายภาพ
เมื่อถึงเวลาจริง พลุจะขึ้นมาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยตะโพนระนาดอะไรทั้งนั้น สิ่งสำคัญที่สุดในจังหวะนี้คือ “สติ” ครับ ดูมุมภาพของคุณก่อนว่ามันโอเคหรือไม่? สูงไปต่ำไป กว้างไปแคบไปอย่างไร แล้วก็ปรับให้มุมมันเข้าที่เข้าทางเสียก่อน อย่าใจร้อนรีบกด (แต่ก็อย่าใจเย็นเกินไป) ปรับเข้าที่แล้วก็ลองกดถ่ายภาพสักหนึ่งภาพแล้ววิเคราะห์ภาพด้วยความรวดเร็วในทันทีที่ภาพปรากฏขึ้น สว่างไปมืดไป ก็ปรับตั้งค่าหรือลด/เพิ่มเวลาในการกดปุ่มชัตเตอร์ค้างของคุณ ปรับทุกอย่างให้เข้าที่หมดทุกอย่างเสียก่อน อย่ามัวแต่พะวงกลัวว่าจะไม่ได้ถ่ายภาพ เพราะถ้าคุณปรับทุกอย่างไม่ลงตัวคุณก็จะปรับแล้วปรับอีกอยู่นั่นแหละ เป็นอันว่าไม่ได้ภาพดีๆ กลับมาสักภาพ
เมื่อทุกอย่างลงตัวหมดแล้ว คราวนี้ก็เป็นเรื่องของ “จังหวะ” ในการลั่นชัตเตอร์ของคุณล่ะ คุณจะดูภาพจากในช่องมองภาพก็ได้ตามถนัด ลั่นชัตเตอร์ในจังหวะที่คุณเห็นพลุระเบิดพุ่งขึ้นจากพื้นดิน ปล่อยปุ่มเมื่อมันแตกตัวยาวที่สุด อย่ามัวแต่ลนลานจนลืมกดลืมปล่อย ของแบบนี้มักจะเกิดขึ้นกับมือใหม่ที่ยังไม่คุ้นกับเรื่องพวกนี้ เสียงพลุแตก ความสวยงาม ควัน ฯลฯ เป็นสิ่งที่ทำให้เราสติแตกตั้งตัวไม่ทัน และที่สำคัญ ไม่ต้องชวนคนข้างๆ คุยหรอกครับ เพราะเค้าเองก็อาจจะกำลังพยายามรวบรวมสติตั้งมั่นอยู่กับปุ่มชัตเตอร์เหมือนกัน
.: ข้อควรรู้อื่นๆ :.
• ทำตัวเป็นนักเดา
ใช่แล้วครับ คุณต้องเดาตามเหตุตามผลว่าพลุจะขึ้นตรงไหน? ความสูงน่าจะประมาณไหน? ทั้งนี้ก็เพื่อที่เราจะได้หามุมวางกล้องได้เหมาะ ใช้เลนส์ได้ถูก ถ้าคุณดุ่มๆ แบกขาตั้งกล้องเข้าไปแบบไม่สนอะไรเลยก็อาจจะต้องมานั่งเซ็งเพราะขาดการเตรียมตัวให้เหมาะสมกับตำแหน่งการวางกล้อง มีบ่อยนะครับที่นึกว่าพลุจะขึ้นตรงหน้า ที่ไหนได้ไปขึ้นด้านข้างหรือด้านหลังเสียอย่างนั้น ปรับมุมกับหูตาตั้งไปเลย
นอกจากจะเป็นนักเดาแล้วคุณก็ควรเป็นนักหาข่าวด้วยครับ อาจจะสอบถามจากพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ว่าตำแหน่งจุดพลุอยู่ตรงไหน? บอกเค้าไปเลยว่าเรามาถ่ายภาพก็เลยต้องวางแผนตำแหน่งวางกล้อง ไม่อย่างนั้นเขาอาจจะเกรงว่าเราจะไปทำมิดีมิร้ายกับพลุของเขา แล้วตากล้องส่วนใหญ่ของเราก็มาดศิลปินดูไม่น่าไว้วางใจซะเยอะเสียด้วย ดังนั้นแสดงตัวไปเลยครับ เค้าจะได้บอกเราแบบสบายใจหน่อย เผลอๆ ยังจะได้มุมเหมาะกว่าเดิมจากการบอกเล่าของเจ้าหน้าที่เหล่านี้นั่นแหละ
แล้วก็หาข้อมูลไปล่วงหน้าด้วยครับว่าพลุเริ่มกี่โมง รายละเอียดเป็นอย่างไร ลูกที่เด็ดที่สุดคืออะไร ความสูงเท่าไหร่ ตำแหน่งอยู่ตรงไหน ฯลฯ ซึ่งอะไรพวกนี้แหละที่จะช่วยเราในการวางแผนได้
• สำคัญ (เกือบ) ที่สุด
คุณต้องเสียสละเวลาของตัวเองโดยการเข้าถึงพื้นที่ก่อนเวลามากๆ ทั้งนี้ก็เพื่อไปหาทำเลตั้งกล้องเหมาะๆ เอาไว้ล่วงหน้า เพราะถ้าคุณเข้าไปเมื่อใกล้จะถึงเวลาก็พอจะนึกออกใช่ไหมครับว่าผู้คนเยอะแยะมากมาย พื้นที่จะวางกล้องก็ไม่มี หรือไม่จุดดีๆ ต่างก็เต็มไปด้วยตากล้องหมดแล้ว และโปรดจำเอาไว้เสมอครับว่าจำนวนตากล้องนั้นจะเพิ่มขึ้นในทุกๆ วัน ตัวแบบเด่นๆ นานๆ จะมาทีอย่างพลุนี่ใครๆ ก็อยากจะถ่ายไปเป็นสมบัติของตัวเองทั้งนั้นแหละ
สำหรับผมแล้ว 6 ชั่วโมงล่วงหน้าคือเวลาอย่างน้อยที่ต้องเข้าถึงจุดแล้ว เพราะนอกจากจะหาทำเลผมก็ยังต้องหาข่าวด้วย ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ล่ะ
• เสบียง
เพราะคุณต้องอยู่โยงเฝ้าจุดถ่ายภาพเป็นเวลาค่อนข้างนาน เสบียงเครื่องดื่มอะไรก็จัดหาไปให้พร้อม อุปกรณ์กันแดดกันลมอะไรก็จัดกันไปตามที่เห็นว่าสมควรครับ… บ้าหรือเปล่า? ถ่ายภาพพลุจะเอาอุปกรณ์กันแดดไปทำไม? ก็ก่อนจะได้ถ่ายภาพพลุเราอาจจะได้นั่งเฝ้าจุดอยู่กลางแดดตั้งนานนี่ครับ
โดยเฉพาะในรายที่เป็นกระบี่ลุยเดี่ยว ความคล่องตัวคือสิ่งที่คุณควรจะมี คุณจะติดขัดเรื่องการไปนู่นมานี่ คงจะลำบากถ้าจะฝากให้ใครดูแลของให้ โดยปกติที่เค้าทำกันก็คือกางขาตั้งจองตำแหน่งเอาไว้ ถอดเพลทยึดกล้องออกมาเก็บไว้ที่ตัว ก็เป็นที่รู้กันว่าตรงนี้เราจอง แต่สมัยนี้ก็ไว้ใจอะไรลำบาก อุปกรณ์การจองที่ราคาแพงของเราอาจจะหายวับไปแบบกู่ไม่กลับหลังจากที่เราคิดว่าไปแค่แว้บเดียวก็เป็นได้
• อุปกรณ์อื่นๆ
ข้อนี้ไม่ได้มีอะไรมากมายครับ แล้วแต่ท่านจะพิจารณาเลือกดู แต่ที่ผมแนะนำว่าควรมีติดตัวไปก็คือไฟฉายเล็กๆ สักกระบอกหนึ่ง เผื่อของตกของหล่นท่ามกลางความมืดก็จะได้ใช้ส่องหา หรือเอาไว้ส่องดูคู่มือดูปุ่มปรับตั้งต่างๆ ของกล้องก็ยังได้ หลายท่านใช้โทรศัพท์มือถือทำหน้าที่นี้ แต่ถ้าเกิดมันหล่นหายไปในความมืดก็เป็นอันว่าเอวัง ตายในหน้าที่แบบไม่คุ้มค่าการให้แสงสว่างเลยทีเดียว
คู่มือของกล้องก็เป็นอีกสิ่งที่ผมแนะนำให้คุณติดกระเป๋ากล้องไว้ครับ เพราะบางทีเราอาจจะได้รับคำแนะนำบางอย่างมาจากเพื่อนที่อยู่ข้างๆ ให้ปรับนู่นนี่นั่นจะได้ทำได้เลย
และที่อยากจะเตือนใจกันไว้อีกข้อก็คือพวกอุปกรณ์สำคัญชิ้นเล็กทั้งหลายอย่าง เมมโมรี่การ์ด แบตเตอรี่ เพลทยึดกล้อง อะไรพวกนี้แหละครับ ตรวจสอบมันให้ดีและอย่าได้ประมาท ผมได้ยินเรื่องราวแห้วๆ เพราะไม่มีเจ้าพวกนี้มาเยอะแยะมากมาย
และที่สำคัญก็คือ…อย่าลืมกล้องโดยเด็ดขาด! ฟังเหมือนจะตลกแต่ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้นะ
• สิ่งสำคัญที่สุด
สิ่งนั้นคือ “มารยาท” ที่เราควรปฏิบัติในฐานะที่เป็นตากล้องครับ เรื่องนี้คงไม่ต้องลงรายละเอียดอะไรกันมากมายนัก เอาเป็นว่าเราไม่อยากให้คนอื่นทำยังไงต่อเรา เราก็อย่าไปทำอย่างนั้นก็แล้วกัน
นอกจากมารยาทแล้วคุณก็ควรมีน้ำใจด้วย ทั้งต่อเพื่อตากล้องด้วยกันและกับเพื่อนมนุษย์อื่นๆ อย่าแสดงความเห็นแก่ตัวโดยเอาอุปกรณ์ราคาแพงเป็นที่ตั้ง ช่วยใครได้ก็ควรช่วยเหลือกันบ้าง เพราะนอกจากมันจะทำให้คุณดูดีมีค่าในสังคมแล้ว มันยังช่วยให้คุณปลอดภัยในยามค่ำคืนอย่างนี้ด้วย ในทางกลับกัน ถ้าคุณแสดงความร้ายกาจในหลากหลายด้าน มันก็จะยิ่งเพิ่มอัตราเสี่ยงทางอันตรายให้กับคุณด้วยเช่นกัน…คงจะพอนึกภาพออกใช่ไหมล่ะ แล้วก็อย่าได้อวดร่ำอวดรวยทางอุปกรณ์มากนัก เดี๋ยวตอนกลับจะมีคนมาช่วยยกช่วยใช้เข้าให้…ซวยเลยทีเดียว
*** เคล็ดลับ ***
- สังเกตทิศทางลม เพราะพลุเป็นสิ่งที่มี “ควัน” ค่อนข้างมาก หากคุณอยู่ใต้ลมก็มีโอกาสที่ควันจะพัดมาทางคุณ นอกจากภาพจะดูแย่แล้วคุณเองก็อาจจะต้องแสบหูแสบตาด้วย
- แขวนทุกสิ่งที่มีเข้ากับแกนขาตั้งกล้อง มันจะทำให้ขาตั้งกล้องนิ่งขึ้นได้อีก
- เมื่อพลุขาดช่วงอย่าเพิ่งฟันธงว่าการแสดงสิ้นสุดลงแล้ว ให้รอต่อไปอีกสักครู่ใหญ่ๆ จนแน่ใจว่ามันจบแล้วจริงๆ เพราะประสบการณ์ของผมเจอแบบนี้หลายครั้ง มันมีโอกาสที่การจุดพลุอาจจะเกิดการติดขัดขึ้นได้หลายสาเหตุจนต้องขาดช่วงออกไปได้เช่นกัน
- สำหรับผมแล้วการจับจังหวะโดยการยืนมองพลุผ่านสายตาตัวเอง จะให้ผลที่ดีกว่าการมองผ่านช่องมองภาพของกล้อง
- หากใช้ชัตเตอร์ “B” ให้นับจำนวนวินาทีในใจ หรือจะนับออกมาเลยก็ได้ เพื่อที่มันจะได้ไม่ยาวเกินกำหนดที่เราตั้งเอาไว้ในแต่ละชอต
- อย่าลืมฟอร์แมตเมมโมรี่การ์ด
ที่เล่ามานี้ยังไม่ใช่ทั้งหมดที่คุณควรรู้ในขณะที่ถ่ายภาพพลุหรอกครับ มันยังประกอบไปด้วยรายละเอียดปลีกย่อยอีกหลายหลากมากมายที่คุณจะต้องไปสั่งสมประสบการณ์ในสนามจริง ยิ่งออกรอบมากเท่าไหร่คุณก็จะยิ่งสูงด้วยประสบการณ์มากขึ้นเท่านั้น ไม่ว่าภาพของคุณจะสวยหรือไม่ก็ตาม
…แต่ผมเชื่อนะว่าภาพพลุไฟอันตระการตาของคุณต้องสวยยิ่งขึ้นแน่ ตราบเท่าที่ยังเดินหน้าออกไปถ่ายภาพมันในทุกครั้งที่มีโอกาสครับ
ปิยะฉัตร แกหลง