มันคือจังหวะภาพจากเสี้ยววินาทีที่ถูกหยุดเอาไว้ไปตลอดกาล เป็นอีกหนึ่งการถ่ายภาพที่ต้องอาศัยความอดทนรอคอยอย่างใจเย็นที่สุดครั้งหนึ่งของผมเลยทีเดียว!
Canon EOS 5DSR • EF 100mm F/2.8L MACRO IS USM • Macro Extension Tube • F/16 • 1/8 sec • ISO 100
ผมเฝ้าครุ่นคิดมาช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้วว่าสำหรับการถ่ายภาพแบบ “มาโคร” นั้น จะยังมีตัวแบบชนิดไหนที่ดูน่าสนใจและท้าทายความสามารถซึ่งไม่เคยปรากฏที่ไหนมาก่อนอยู่อีกบ้าง? สิ่งนั้นควรจะเป็นอะไรที่ไม่ไกลตัวมากจนเกินไปนัก เมื่อพูดถึงด้วยตัวอักษรหรือเพียงแค่ดูภาพเฉยๆ ก็ควรจะเข้าใจได้ทันทีโดยที่ไม่ต้องอธิบายกันให้มากความ ถ้าผู้อื่นสนใจที่จะบันทึกภาพบ้างก็ไม่ควรจะยากเย็นมากมายเกินไปนัก…
ประสบการณ์แห่งการเดินทางแต่หนหลังถูกดึงขึ้นมาคิดเป็นช่วงๆ ว่าเราเคยเจออะไรที่ไหนมาบ้าง และจะสามารถนำมาใช้ตอบโจทย์นี้ได้อย่างไร? ในที่สุดไอเดียจากโถงถ้ำที่เคยมุดเข้ามุดออกก็ปรากฏขึ้นมาพร้อมคำเชิญชวนให้ลองดู
ก็พอดีกับที่ได้กล้องจากทาง Canon ส่งมาให้ทดลองใช้ดู ผมก็คิดมานานแล้วอีกเหมือนกันว่าถ้ากล้องซึ่งมีระดับความละเอียดสูงมากๆ เช่นนี้ตกมาถึงมือแล้วก็ควรจะต้องใช้มันเพื่อถ่ายทอดภาพทางด้านมาโครแจ๋วๆ ออกมาดูกันหน่อย เมื่อมันมาประจวบเหมาะกันเข้าในที่สุด “ถ้ำ” ที่ผมหมายตาเอาไว้ก็กลายเป็นจุดหมายที่ผมต้องเดินทางไปทันที
เป็นที่รู้กันครับว่า “หลอดหินย้อย” หรือ หินย้อยที่เรารู้จักกันนั้นเป็นปรากฏการณ์ที่ต้องอาศัยระยะเวลาในการก่อตัวจากผลึกเล็กๆ ซึ่งเกิดจากตะกอนของน้ำที่ซึมผ่านมาตามชั้นหิน แล้วทิ้งสารเหล่านั้นให้ตกผลึกเกาะติดกันแน่นจนยืดยาวออกมา แต่มันก็ใช้เวลาไม่น้อยเลยกว่าที่จะยืดออกมาได้สักองคุลีหนึ่ง…บางทีมันอาจจะต้องใช้เวลาเป็นแสนเป็นล้านปีเลยก็เป็นได้
ผลึกเหล่านั้นนั่นแหละครับที่ผมหมายตาเอาไว้ แน่ล่ะว่าเราเคยเห็นหินย้อยกันมาแล้ว แต่จะให้เห็นในระดับผลึกที่ส่วนปลายของมันเลยนั้นคงจะไม่ได้เห็นกันบ่อยๆ และเมื่อเรามีคุณสมบัติมาโครอยู่ในมือก็ควรแก่การบันทึกภาพมันมาให้ชาวโลกได้เห็นชนิดกระจ่างต่อสายตา
ผมเฝ้าดูและถ่ายภาพมันจนสำเร็จสำหรับผลึกหินปูนผ่านหยดน้ำที่เกาะอยู่ส่วนปลายของหินย้อยขนาดเล็ก การถ่ายภาพนั้นก็ไม่ได้จัดว่าง่ายเพราะสภาพพื้นที่และความมืดเป็นอุปสรรคอันสำคัญในการจัดวางอุปกรณ์ทั้งหลายแหล่ ที่ทำให้มันยากขึ้นไปอีกก็คือการระมัดระวังที่จะไม่ไปโดนมันเข้าเพราะอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายจนถึงขั้นหยุดปรากฏการณ์นั้นไปเลยก็เป็นได้ ซึ่งมันยากก็เพราะนี่คือการถ่ายภาพในระดับ “Super Macro” ที่อัตราขยายระดับ 3:1 นั่นแหลว่าต้องเข้าใกล้มันมาก ห่างจากหน้าเลนส์ออกไปเพียงไม่กี่เซนติเมตรก็ชนกันแล้ว ดังนั้นต้องระวังให้จงหนัก
หากเราให้เกียรติต่อสิ่งที่เราถ่ายและให้ความสำคัญต่อการระมัดระวังดูแล ก็มีโอกาสมากกว่าที่เราจะได้ถ่ายภาพเค้าได้อย่างที่ตั้งใจ …ผมเชื่ออย่างนั้นนะ
หลังจากที่ถ่ายภาพเรียบร้อยแล้วผมก็ส่องดูด้วยตาเปล่าตามนิสัยอยากรู้อยากเห็น ในวินาทีนั้นเองหยดน้ำที่ปลายหินย้อยก็ทิ้งตัวร่วงลงสู่พื้นถ้ำ ซึ่งก็เป็นไปตามปกติธรรมชาติของมันอยู่แล้ว แต่ฉับพลันนั้นเองผมก็คิดขึ้นมาได้อีกว่า ทำไมเราไม่ถ่ายภาพในจังหวะที่หยดน้ำกำลังจะหลุดออกจากปลายหินย้อยล่ะ? รู้สึกว่าจะยังไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อนเลยนี่นะ
คิดได้ดังนั้นก็ลงมือทันที จัดแจงทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนเดิม แต่ที่มันต่างออกไปก็คือหลังจากที่ทิ้งตัวไปแล้วมันก็ต้องใช้เวลาสำหรับสะสมปริมาณน้ำออกมาใหม่ แน่ล่ะครับ หินย้อยย่อมไม่ใช่ปลายก๊อกน้ำ ดังนั้นมันจึงใช้เวลานานมากกว่าจะเกิดน้ำมากพอจนหลุดร่วงลงไปอีกครั้งหนึ่ง
…ซึ่งเท่าที่ผมลองจับเวลาดูนั้น มันใช้เวลาอยู่เกือบชั่วโมงเลยทีเดียว!
พระเจ้าช่วยหินย้อยทอด…นี่หมายความว่าผมจะมีโอกาสได้ถ่ายภาพในจังหวะเสี้ยววินาทีอันยากเย็นนั้นเกือบๆ หนึ่งชั่วโมงต่อหนึ่งชอต ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะต้องใช้กี่ชอตถึงจะสำเร็จเป็นภาพอย่างที่ตั้งใจคิดเอาไว้ คุณลองนึกภาพการจับจังหวะที่หยดน้ำจะย้อยออกจากที่เดิมแต่ยังไม่ขาดจากกันด้วยพลังแรงโน้มถ่วงของโลกดูเถอะครับว่ามันจะยากเย็นขนาดไหน?
…คุณจะมีโอกาสเพียงชั่วโมงละครั้งเท่านั้น ถ้าพลาดก็ต้องรอไปอีกหนึ่งชั่วโมง และในระหว่างรอก็ห้ามละสายตาเพราะคุณจะไม่มีทางรู้เลยว่ามันจะหยดลงไปในวินาทีไหน เพียงหันหน้าไปแล้วหันกลับมามันอาจจะเหลือแต่เพียงปลายหินย้อยชุ่มฉ่ำเท่านั้น
หกชั่วโมงผ่านไป…กับการจับจังหวะแบบไม่กระพริบตา …ก็ต้องมีไปทำอย่างอื่นนู่นนี่นั่นบ้างตามประสาแหละครับ กลับมาอีกที อ้าว หยดไปซะแล้ว ก็ต้องรอกันใหม่ แต่เมื่อเห็นว่าหยดน้ำเริ่มมีขนาดใหญ่มากขึ้นก็ต้องแนบเบ้าตาเข้ากับช่องมองภาพแล้ว สังเกตได้ว่าเมื่อใกล้จะถึงเวลาแห่งการปลดปลง หยดน้ำจะพริ้วนิดๆ ด้วยอิทธิผลของสายลมที่โชยมาอ่อนๆ คราวนี้แหละที่ต้องเตรียมตัวตั้งสมาธิจนถึงระดับขีดสุดเท่าที่จะมี
เมื่อคุณเกร็งสายตามากเข้ามันก็จะเปลี่ยนไปจับโฟกัสตรงอื่นแทน ต้องรีบกลับมาเพ่งอยู่ที่โคนหยดน้ำนั้นเพื่อเฝ้าดูว่ามันจะคอดกิ่วลงมาในวินาทีไหน ซึ่งนั่นหมายถึงช่วงเวลาที่คุณจะต้องลั่นชัตเตอร์แล้ว
แสงแฟลชสว่างวาบม่านชัตเตอร์สับโครมลงมา! ผมเห็นด้วยสายตาในทันทีด้วยกำลังสมาธิที่จดจ่อรออยู่แล้วถึงลักษณะของหยดน้ำที่ทิ้งตัวลงจากส่วนปลายแต่ยังไม่ขาดออกจากกัน แสงแฟลชที่ยิงออกไปนั้นหยุดภาพให้ผมเห็นด้วยสายตา ซึ่งมันก็กลายมาเป็นภาพติดตาจนกระทั่งบัดนี้
แทบจะร้องลั่นถ้ำด้วยความดีใจ ในที่สุดการรอคอยของผมกว่าหกชั่วโมงก็สำเร็จลุล่วงไปเสียที
นี่แหละครับ มันจึงเป็นอีกหนึ่งในการถ่ายภาพที่ผมต้องจำไปชั่วชีวิตเลยทีเดียว เพราะเป็น Super Macro ที่ต้องใช้เวลาในการรอถ่ายภาพนานมาก
…ชั่วโมงละครั้งเท่านั้นเอง!
ปิยะฉัตร แกหลง [Nextopia]
มิถุนายน 2558