และแล้วเราก็เข้าสู่ยุคของกล้องถ่ายภาพที่จะปราศจาก AA Filter ซึ่งอยู่ร่วมกับกล้องดิจิตอลมานานแสนนาน ดังจะเห็นได้จากกล้องถ่ายภาพรุ่นใหม่ๆ ที่เริ่มมีการชูประเด็นว่าจะไม่มีมันเสียแล้ว คิดๆ ไปก็น่าใจหายและชักจะเสียดายเหมือนกัน เอ่อ…ว่าแต่ว่า AA Filter มันคืออะไรกันน่ะ?
เมื่อเห็นคำว่า “ฟิลเตอร์” หลายคนก็คงนึกถึงอุปกรณ์กลมๆ ที่สวมไปบนหน้าเลนส์เพื่อทำอะไรสักอย่าง บ้างก็ลดนั่นบ้างก็เพิ่มนี่ บ้างก็ไม่รู้ว่ามีไว้ทำไม…รู้แต่ว่าคนขายแนะนำมาว่าดีก็เอาซะหน่อย
ฟิลเตอร์กลมๆ อย่างที่เราคุ้นเคยนั้นเป็นอุปกรณ์ที่ทำงานร่วมกับเลนส์ แต่ “AA Filter” ที่เรากำลังจะพูดถึงต่อไปนี้คืออุปกรณ์ที่ทำงานร่วมกับกล้อง หรือถ้าจะให้จำเพาะเจาะลงไปเลยก็คือมันทำงานร่วมกับเซนเซอร์รับภาพ ส่งผลบางอย่างโดยตรงต่อสิ่งที่จะอยู่ด้านหลังมัน ซึ่งก็คือเซนเซอร์รับภาพนั่นแหละ
AA Filter ย่อมาจาก “Anti-Alias Filter” มันมีหน้าที่ในการลดความหยาบกระด้างของแสงให้นุ่มนวลลงก่อนจะตกกระทบเข้ากับ เซนเซอร์รับภาพ (ซึ่งมันก็จะแปะอยู่หน้าเซนเซอร์รับภาพนั่นเอง) โดยเฉพาะบริเวณที่มีลักษณะเป็นเส้นหรือส่วนที่มีความเปรียบต่างสูง หากไม่มี AA Filter แล้วมันจะมีลักษณะของส่วนขอบที่คมมาก คมเสียจนแสดงลักษณะหยักๆ ออกมาให้เห็นในภาพเมื่อขยายภาพขึ้นมาดูมากๆ ซึ่งเรียกกันว่า “Alias”
มันเกิดจากอะไร? เซนเซอร์รับภาพในกล้องถ่ายภาพที่เราคุ้นเคยนั้นเป็นชนิดที่เรียกว่า “Bayer Sensor” ซึ่งจะมีเซลล์รับแสงเรียงกันเป็นตารางอยู่บนแผงวงจรไฟฟ้า แต่ละพิกเซลก็จะหมายถึงเซนเซอร์รับภาพหนึ่งจุด หากกล้องของคุณมีความละเอียด 16 ล้านพิกเซล ก็จะหมายความว่ามีเซนเซอร์หรือเซลล์รับแสงนี้เรียงรายต่อกันเป็นตารางสี่เหลี่ยมผืนผ้าอยู่ 16 ล้านจุด…เหมือนตารางหมากฮอสที่ละเอียดยิบและใช้หมากขนาดนาโนในการเดิน
ภาพถ่ายก็คือจุดสีจำนวนมากที่มาเรียงต่อกัน จุดสีเหล่านั้นก็จะเกิดจากเซนเซอร์แต่ละจุด ซึ่งก็จะมีลักษณะหยักๆ ตามแบบฉบับการเรียงตัวของมันนั่นเอง มันจะทำให้เกิดลักษณะของ “Alias” ขึ้นเมื่อเส้นในภาพมีลักษณะเฉียงไป-มา ในบางวงการก็จะเรียกว่า “ฟันเลื่อย” ซึ่งก็ทำให้นึกภาพตามได้ง่ายขึ้น
AA Filter เข้ามาทำหน้าที่ในการลดลักษณะนี้ลง เพื่อให้เส้นหรือรอยหยักที่ว่ามานั้นถูกทำให้นุ่มนวลมากขึ้น โดยที่เมื่อแสงวิ่งผ่านมันก็จะเกิดการกระจายตัวออกเล็กน้อย ทำให้แต่ละพิกเซลถูกสอดแทรกไปด้วยสี (หรือแสง) ที่อ่อนกว่า ขอบหยักคมกริบที่ว่าก็จะดูนุ่มนวลลง
นั่นคือหน้าที่ของ “AA Filter” ที่อยู่ควบคู่กับเซนเซอร์รับภาพของเรามานานแสนนาน…
ณ วันนี้ มีกล้องถ่ายภาพจากค่ายยักษ์ใหญ่ออกมาประกาศเปิดตัว ยืดอกพกความมั่นใจมาอย่างเต็มเปี่ยมแล้วประกาศก้องไปทั่วหล้าว่า อันตัวข้านี้ปราศจาก AA Filter เสียแล้ว!
อ้าว…ในเมื่อประโยชน์มันมี แล้วจะตัดมันออกไปเพื่ออะไร? ประหยัดต้นทุนเหรอ? ไม่นี่นะ เห็นราคาแพงกว่ารุ่นที่มี AA Filter ซะอีก
AA Filter มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “Blur Filter” …ใช่แล้วล่ะ โดยลักษณะของมันก็คือการเพิ่มความเบลอของลักษณะแสงเข้าไปก่อนที่จะตกกระทบ กับเซนเซอร์รับภาพเพื่อลดอาการฟันเลื่อยอย่างที่ว่า เพราะฉะนั้นภาพถ่ายที่เราได้รับจากเซนเซอร์รับภาพนั้น อันที่จริงแล้วไม่ใช่ประสิทธิภาพอันสูงสุดของเลนส์ ดังนั้นต่อให้คุณใช้เลนส์ระดับเทพระดับพรหมจากสวรรค์ชั้นใดก็ตามที สุดท้ายมันจะถูกลดคุณภาพลงเมื่อวิ่งผ่าน AA Filter นั่นเอง
อ้าว…งั้นจะใส่มันมาเพื่ออะไรล่ะ? ขอแนะนำให้คุณสละเวลาสัก 10 วินาทีเพื่อย้อนกลับไปอ่านสิ่งที่ผ่านมาในหน้าที่แล้วอีกสักรอบ…นั่นคือคำ ตอบและเหตุผลที่ฟังขึ้นสำหรับการมี AA Filter
นอกจากเรื่องของ “ฟันเลื่อย” อย่างที่ว่ามาแล้ว ปัญหาของตารางเซนเซอร์รับภาพยังมีอีกอย่างหนึ่งหากปราศจาก AA Filter นั่นก็คือลักษณะที่เรียกว่า “Moiré” (ออกเสียงว่า “มอเล่” เป็นคำจากภาษาฝรั่งเศส ซึ่งหมายถึงลายผ้า) ซึ่งในวงการสิ่งพิมพ์ของบ้านเราก็จะเรียกว่า “ตาเสื่อ” จะเกิดขึ้นกับอะไรก็ตามแต่ที่มีลักษณะเป็นลวดลายซึ่งเรียงกันเป็นระเบียบ เช่นลายผ้า ลายก้อนอิฐบนผนัง ขนนก ฯลฯ ซึ่งเมื่ออยู่ในองศาที่เป็นปัญหา อาการ moiré ก็จะเกิดขึ้นในภาพทันที
…ถ้าไม่มี AA Filter ช่วยกรองเอาไว้น่ะนะ
สองปัญหาที่ว่านั้น ก็เพียงพอที่จะทำให้ผู้ผลิตกล้องถ่ายภาพตัดสินใจใส่ AA Filter เข้ามาไว้ที่หน้าเซนเซอร์รับภาพทันที ไม่อย่างนั้นแล้วยอดขายคงไปไม่ถึงดวงดาว แถมยังจะโดนวิจารณ์สะบัดช่อ ค่าที่ผลิตกล้องออกมาไม่ดี ถ่ายภาพแล้วมีแต่ปัญหา…เพราะฉะนั้นจงใส่มันลงไปดีกว่า
เราจึงอยู่กับ AA Filter มานานแสนนาน โดยไม่รู้ว่า อันที่จริงแล้วเลนส์ของเราให้ความคมได้มากกว่าที่เห็นซะอีก…เชื่อมั๊ยล่ะ?
แต่แล้วในที่สุด…แม้จะไม่ใช่เรื่องของการหมดมุข แต่ค่ายกล้องก็เริ่มแหย่รังแตนโดยการส่งกล้องที่ปราศจาก AA Filter ออกมาลองตลาดเพื่อดูกระแสตอบรับว่าเป็นอย่างไร? แน่นอนว่าเซนเซอร์รับภาพที่ปราศจาก AA Filter นั้นย่อมจะให้ความ “คม” ได้มากกว่าตั้งแต่ขั้นทฤษฏี เพียงแต่ว่าถ้าเจอกับวัตถุหรืออะไรก็ตามแต่ที่มีลักษณะของลวดลายหรือ “Pattern” เข้าละก็ ขอแสดงความเป็นจริงให้ปรากฏหน่อยละกัน อันนี้เราได้บอกเอาไว้ตั้งแต่แรกแล้วนะ!
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ มันจะส่งผลดีอย่างยิ่งยวดต่อภาพถ่ายในลักษณะหนึ่ง (หรือหลายๆ ลักษณะ) แต่มีจุดอ่อนกับภาพถ่ายบางลักษณะนั่นเอง
ดังนั้นบรรดาค่ายกล้องซึ่งปล่อยรุ่นที่ไม่มี AA Filter ออกมาจึงออกตัวเอี๊ยดเอาไว้ก่อนเลยว่ากล้องรุ่นนี้เหมาะสำหรับการถ่ายภาพ ทิวทัศน์ หรือภาพทั่วๆ ไปที่ไม่มีลักษณะของลวดลายที่แน่นอน แต่ถ้าคุณไม่แน่ใจก็ให้เลือกอีกรุ่นหนึ่งที่ไม่เน้นแนวอิทธิฤทธิ์อันเป็น เหมือนฝาแฝดกันนี่แหละไปใช้งานจะดีกว่า แต่เชื่อสิ ตัวนี้คมกว่านะ คิดดูดีๆ …อะไรประมาณนั้น
อย่างน้อยๆ ในตลาดขณะนี้ก็มีกล้องแฝดสองรุ่นที่เป็นทางเลือกอย่างที่ว่า นั่นก็คือ Pentax K-5II และ K-5IIs กับอีกค่ายหนึ่งคือ Nikon D800 และ D800E แต่ล่าสุด Nikon ก็ลองเล่นเกมส์แรงด้วยการส่ง D7100 แบบไม่มี AA Filter ออกมาเดี่ยวไมโครโฟนโดยไม่มีตัวเลือกมาให้ งานนี้จัด “คม” สถานเดียว
อ้าว…แล้วไม่กลัวปัญหาที่ว่ามาหรอกหรือ? ปัญหาเหล่านั้นจริงๆ แล้วสามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้ซอฟต์แวร์ช่วยจัดการเคลียร์ให้ อย่างเรื่องของตาเสื่อหรือ moiré ที่ดูจะเป็นปัญหาที่สำคัญกว่า แต่ก็เพียงแค่คลิกครั้งสองครั้งมันก็จะอันตรธานหายไปทันที ด้วยซอฟท์แวร์อันชาญฉลาดที่แถมมากับกล้องนั่นเอง
…แต่มีข้อแม้ว่าต้องถ่ายมาเป็นไฟล์ RAW ถึงจะแก้ไขได้รวดเร็ว…เรียบร้อยก่อนปอกกล้วยเสร็จซะอีก
แต่ช้าก่อน! อย่าเพิ่งคิดว่านี่เป็นของใหม่ อันที่จริงเรื่องการปลดประจำการ AA Filter ออกจากเซนเซอร์รับภาพนั้นมีมาช้านานแล้ว แต่ไม่ค่อยจะประกาศให้รับรู้รับทราบกันเท่าไหร่นัก เชื่อไหมว่ากล้องหลายๆ รุ่นในอดีตนั้นออกวางจำหน่ายโดยไม่มี AA Filter ติดมาด้วย! และเชื่ออีกไหมล่ะว่ากล้องรุ่นเหล่านั้นมักจะได้รับคำชมด้วยว่าถ่ายภาพได้คม ชัดเปรี๊ยะๆ ซะจนน่าประทับใจ ยากจะหาผู้ใดเสมอเหมือน
…และเชื่อไหมล่ะว่า กล้องระดับสุดโต่งของโลกที่เค้าพากันชื่นชมว่าคมขาดบาดจิตอย่าง “Leica” นั้น ไม่แยแส AA Filter เลย!
และกล้องระดับ Medium Format ก็ไม่คิดจะคบค้ากับ AA Filter แต่อย่างใดเช่นกัน!
อันที่จริงก็มีเสียงตะเบงเซ็งแซ่จากนักถ่ายภาพทั่วโลกที่ “รู้มาก” เป็นระยะๆ อยู่แล้วว่าให้เลิกผลิตกล้องที่มี AA Filter ออกมาซะทีเถิ๊ด! พวกเขาอยากจะสัมผัสกับคุณภาพสุดๆ และสดๆ ของเลนส์จากชั้นดาวดึงส์ที่ครอบครองกันอยู่ให้เต็มที่ ถึงกับมีช่างจากบางร้านบางแห่งให้บริการถอด AA Filter ออกจากกล้องเสียให้รู้แล้วรู้รอด…เอากะเค้าสิ!
แต่สำหรับผู้ใช้ทั่วไปนั้น ค่ายกล้องเล็งเห็นแล้วว่าควรจะต้องครอบคลุมการใช้งานหรือ “ปลอดภัยไว้ก่อน” จะดีกว่า ยอมเสียความคมไปเล็กน้อย…คุ้มกว่าเยอะ
มีอีกประเด็นหนึ่งก็คือ ทำไมกล้องรุ่นที่ไม่มี AA Filter ถึงได้มีราคาสูงกว่ารุ่นที่มี AA Filter? ก็ถอดหายออกไปแล้วต้นทุนก็น่าจะถูกลงมิใช่หรือ?
อันที่จริงแล้ว เรื่องนี้อธิบายได้ว่า คำว่า “ไม่มี” นั้นถูกละว่า AA Filter ถูกทำให้หายไป แต่ก็อาจจะต้องใส่อย่างอื่นเข้ามาชดเชย เพราะคงไม่ใช่แค่ถอดกันออกไปเพียวๆ แล้วมันจะได้ผลเป็นที่น่าพอใจใช้งานได้เลย หรือก็อาจจะมีอุปกรณ์อย่างอื่นเสริมเข้ามาจำพวกระบบการประมวลผล หรืออะไรทำนองนั้นก็เป็นได้ ซึ่งก็ส่งผลให้มันแพงขึ้นอีกนิดหน่อย
…หรือจะมองในแง่การตลาด ผู้ผลิตอาจจะเล็งเห็นว่ามันอาจจะทำยอดได้ไม่เยอะ ก็เลยมีจำนวนการผลิตที่น้อยกว่า ส่งผลให้ต้นทุนต่อตัวสูงกว่ารุ่นที่ผลิตมากกว่า…นั่นก็อาจจะเป็นอีกเหตุผล หนึ่ง
ก็อย่างที่บอกว่าการไม่มี AA Filter อยู่หน้าเซนเซอร์รับภาพนั้นมันไม่ง่ายเหมือนปลูกถั่วงอกหรอกนะ
แล้วจะเลือกตัวไหนกันดี? นี่ล่ะของยากเพราะแบบใหม่ก็น่าลอง อยากจะรู้นักว่ามันจะคมขาดบาดคอกันขนาดไหน? ภาพของเราจะทิ่มแทงสายตาคนดูได้เลยหรือไม่? แต่ถ้าเจอพวกลวดลายเข้าไปล่ะจะทำยังไง?
ก็อย่างที่บอกว่าสามารถใช้ซอฟต์แวร์ช่วยแก้ได้ แต่ถ้าไม่อยากเสี่ยงก็เลือกใช้รุ่นปกติถ้าความคมชัดปกติแค่นั้นก็พอประมาณ สำหรับเราแล้ว…ดังนั้นก็พอจะมองเห็นแนวโน้มแล้วล่ะว่าระหว่างฝาแฝดที่ออกมา ดูโลกพร้อมกัน ตัวไหนจะมียอดขายสูงกว่ากัน?
แต่นี่ยังไม่ใช่ข้อสรุป เรื่องราวของเทคโนโลยีก็เป็นอย่างที่เรารู้กันว่ามีการพัฒนาออกมาได้อีก เพียบ ไม่แน่ว่าในอนาคตข้างหน้า เราจะมีโอกาสได้เห็น AA Filter ก็เฉพาะแค่ในพิพิธภัณฑ์เท่านั้นก็เป็นได้…ใครจะรู้?
แถมท้ายเอาไว้เป็นข้อสังเกตอีกนิด AA Filter นั้นมีหน้าที่ทำให้ภาพนุ่มลงอย่างที่บอก ซึ่ง AA Filter นี้ก็ใช่ว่าจะมีผู้ผลิตเพียงรายเดียวในโลก ตรงกันข้ามมันยังเป็นแบบสูตรใครสูตรมัน ดังนั้นบางทีที่เราเคยได้ยินมาว่า กล้องสองค่ายที่เป็นคู่แข่งกัน ค่ายหนึ่งถ่ายภาพ Landscape ได้กินลึกคมขาดน่าประทับใจยิ่งนัก ในขณะที่อีกค่ายหนึ่งก็ถ่ายภาพ Portrait ได้ชวนฝันน่าประทับใจเสียเหลือเกิน มันอาจจะเป็นผลส่วนหนึ่งมาจาก AA Filter ตามแบบฉบับ “สูตรใครสูตรมัน” ก็เป็นได้…น่าคิดใช่ไหมล่ะ?
ในที่สุดเราก็ได้รู้จักกับ AA Filter มากขึ้นกว่าเดิม ต้องติดตามดูกันต่อไปว่าใครจะมีทีเด็ดอะไรออกมากวาดต้อนตลาดกันอย่างไรบ้าง อย่างน้อยๆ ในขณะที่เขียนบทความนี้ (ปลาย มีนาคม 2556) ก็ยังมีค่ายดังอีกค่ายหนึ่งที่ยังไม่แสดงตัวต่อเรื่องนี้ในกล้องรุ่นใหม่แต่ อย่างใด ซึ่งก็เชื่อเหลือเกินว่า “มาแน่”
…ศึกแห่งความคมชัดจัดจริงในครั้งนี้ยังระทึกยิ่งนัก โปรดติดตามชมกันเถิด!