XT:G10 : ถ่ายภาพ Moving Light ในงานแสง สี เสียง

 

อาจจะคิดว่าการถ่ายภาพแสงสีเสียงก็เหมือนกับการถ่ายภาพไฟแสงสีกลางคืนทั่วไป แต่ผมคิดว่าไม่ใช่นะYoYod

 

ภาพจากการแสดงแสงสีเสียงในงาน “ยอยศยิ่งฟ้า อยุธยามรดกโลก ๒๕๕๖”
Canon EOS 6D • EF 24-105mm F/4L IS USM • @40mm • F/11 • 10 sec • ISO 200

แสงและสีเป็นอะไรที่อยู่คู่กับช่างภาพอย่างเราอยู่แล้ว ผมชื่อว่าคนถ่ายภาพจำนวนมากน่าจะเคยมีประสบการณ์ในการถ่ายภาพแสงสียามราตรีกันมาบ้าง ซึ่งอาจจะเข้าใจว่ามันก็น่าจะเหมือนกัน ใช้วิธีการ ลากชัตเตอร์เหมือนๆ กัน

ในความเห็นของผมแล้วก็เกือบจะใช่ครับ ส่วนที่ไม่ใช่ก็คือในการแสดงแสงสีเสียงยุคนี้มีเทคนิคของ แสงที่ร่วมในการแสดงหลากหลายรูปแบบมากมาย ต่างจากในอดีตที่มีแสงไฟเหล่านี้อยู่ไม่มากแบบเท่าไหร่นัก จะเน้นไปทางความอลังการของแสงสีแบบอยู่นิ่งๆ มากกว่า

แน่นอนครับว่าถ้าเป็นแบบนั้นแล้วละก็เราสามารถตั้งกล้องบนขาตั้งแล้วโซโล่ด้วยสายลั่นชัตเตอร์กันได้ตามใจชอบ ดูจังหวะแสงสีเปลี่ยนเป็นรูปแบบอันสวยงามแล้วก็ยิงเปรี้ยงออกไปอร่ามตาเป็นที่สุด

แต่ก็อย่างที่บอก ในยุคนี้มีเทคนิคแสงหลากหลายประเภทเพื่อสะกดสายตาคุณผู้ชมให้ตกอยู่ในภวังค์ แต่สร้างความตื่นเต้นลุกลี้ลุกลนให้กับช่างภาพนิ่งได้อย่างมหันต์

นั่นก็เพราะแสงประเภทที่เค้าเรียกกันว่า “Moving Light” หรือแสงอันเคลื่อนที่ได้ทั้งหลายแหล่นั่นแหละครับ พวกนี้แหละตัวดีที่ทำให้ช่างภาพหัวปั่นสั่นคลอนกันมาเยอะแล้ว ถ้าคุณยังเป็นพวกลากชัตเตอร์นานๆ น่ะนะ

ที่เราเห็นกันชัดเจนไปตั้งไกลหลายกิโลเมตรและได้เห็นกันบ่อยๆ ก็คือแสงไฟที่พุ่งเป็นลำขึ้นไปบนท้องฟ้าแล้วก็วิ่งไปวิ่งมาตามการบังคับหัวไฟโดยช่างเทคนิคให้ส่ายไปทางโน้นทางนี้ (ซึ่งในยุคแรกๆ ของการแสดงนั้นทำให้หลายคนนึกว่าได้เจอกับ UFO บนท้องฟ้าเข้าให้แล้ว) นั่นแหละครับตัวสร้างความยิ่งใหญ่อลังการเลย แต่ขอโทษทีเถอะ ถ้าคุณใช้เทคนิคการลากชัตเตอร์นานหรือใช้ชัตเตอร์ “B” ละก็ ในภาพของคุณก็จะไม่เห็นแสงไฟเป็นลำพวยพุ่งนั่นเลยหากมันยังไม่หยุดส่ายเปลี่ยนทิศทาง แสงจะถูกบันทึกออกลักษณะฟุ้งกระจายไปตลอดเวลาที่คุณเปิดรับแสงและมันยังคงเคลื่อนที่ ไม่ปรากฏให้เห็นเป็นลำอย่างที่ตาคุณเห็นแต่อย่างใด

จะโชคดีอยู่บ้างก็ในจังหวะที่เปิดรับแสงนั้นมันหยุดนิ่งอยู่กับที่พอดี อันนั้นก็สบายไป

ดังนั้นถ้าเจองานแบบนี้คุณต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่เสียแล้วล่ะครับ ต้องใช้สปีดชัตเตอร์ที่เร็วขึ้นเพื่อช่วยหยุดการเคลื่อนไหวของแสงไฟพวกนี้ ซึ่งผมคิดว่าระดับ 1/10 หรือ 1/20 sec. ก็ยังพอไหว แต่ถ้าอยากให้ลำแสงคมปิ๊งก็ต้องให้มันเร็วขึ้นอีกหน่อย เพราะสปีดชัตเตอร์ระดับ 1/10 หรือ 1/20 sec. นี่มันจะมีการเบลอจากความเคลื่อนไหวเกิดขึ้นแล้ว แต่ลำแสงฟุ้งๆ เบลอตามขอบก็ยังพอถูไถได้อารมณ์ลำแสงอยู่บ้าง

ที่พึ่งอันเกษมของพวกเราก็คือ “ISO” นี่แหละครับที่จะต้องถูกเพิ่มเข้าไปเพื่อให้กล้องมันไวต่อแสงมากขึ้น ดังนั้นกล้องรุ่นที่ให้ ISO สูงได้เนียนๆ ก็จะช่วยได้มาก ส่วนกล้องรุ่นก่อนก็อาจจะมี Noise พร่างพรายส่ายระบำในภาพไปสักนิด อันนี้คุณก็ต้องเลือกแล้วล่ะว่าจะยอมให้มี Noise เพื่อแลกกับแสงเป็นลำ หรือจะใช้ ISO ต่ำแล้วแลกกับการลากชัตเตอร์ต่อไป ซึ่งก็จะไม่ค่อยได้แสงเป็นลำสักเท่าไหร่

อันดับแรกคุณต้องปรับโฟกัสเป็นแบบ Manual แล้วหมุนโฟกัสเองครับ อย่าได้หวังพึ่งโฟกัสอัตโนมัติในสถานการณ์แบบนี้เด็ดขาดเพราะมันจะพลาดได้แทบจะตลอดเวลา จากนั้นลองดัน ISO ขึ้นไปที่ 800 เป็นพื้นฐาน เปิดรูรับแสง F/8 ใช้สปีดชัตเตอร์แถวๆ 1/20 sec. แล้วลองถ่ายภาพดู จากนั้นก็วิเคราะห์ภาพตรงนั้นเลยว่าภาพที่ได้ออกมาสว่างไปมืดไปอย่างไร? ซึ่งก็สามารถปรับค่าทั้งหลายให้เหมาะสมกันได้ เช่นหากมืดไปก็ลองลดสปีดชัตเตอร์ลงมา หรือถ้าสว่างไปก็ลดค่า ISO ลงมา (เพื่อให้ภาพเนียนยิ่งขึ้น) หรือไม่ก็บีบ F ให้แคบลงเพื่อให้ภาพชัดลึกยิ่งขึ้น ได้ประกายของแฉกแสง ฯลฯ อะไรก็ว่ากันไป

อีกสิ่งหนึ่งซึ่งอาจจะถือว่าเป็นเคล็ดลับเลยก็ได้ นั่นก็คือลองจับสังเกตการเคลื่อนที่ของแสงไฟเหล่านี้ดูให้ดีครับ สมัยนี้เค้าใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการสั่งเคลื่อนไหวมัน ดังนั้นรูปแบบจึงค่อนข้างจะแน่นอนตายตัวซึ่งก็จะมีจังหวะที่มันมาหยุดอยู่กับที่ในฉากที่สวยที่สุดอยู่บ้างเหมือนกัน ซึ่งโอกาสนั้นแหละครับที่จะช่วยให้เราถ่ายภาพได้ง่ายขึ้น สามารถใช้สปีดชัตเตอร์ที่ช้าลง ลด ISO ได้ เปิดรับแสงได้นานขึ้น อะไรประมาณนี้ ซึ่งอันนี้แหละที่ต้องลองจับจังหวะดู

ฟังดูแล้วก็น่าปวดหัวนี่ยังไม่นับรวมพวกเครื่องฉายภาพ เลเซอร์ พลุ ฯลฯ อีกเยอะแยะที่เข้ามาร่วมอลังฯ ในงานแบบนี้ ซึ่งมันต่างก็ต้องเคลื่อนไหวเคลื่อนที่กันทั้งนั้น โอกาสหน้าผมจะมาเล่าถึงวิธีการถ่ายภาพพวกนี้กันต่ออีกที

เทคโนโลยีทางแสงสีเสียงสมัยนี้ไปไกลมากครับ ลูกเล่นลูกชนเยอะแยะสารพัด เราต้องประยุกต์วิธีการถ่ายภาพให้ทันไม่อย่างนั้นก็อาจจะพลาดแสงสีที่เค้าอุตส่าห์เซ็ทกันมาอย่างอลังการนั้นไปอย่างน่าเสียดาย หน้าที่ของเราคือต้องพยายามถ่ายภาพแนวนี้ให้ได้ใกล้เคียงหรือเหนือกว่าที่ตาเห็นครับ ไม่อย่างนั้นคนที่ได้ดูภาพซึ่งบังเอิญว่าได้เข้าชมงานนั้นมาด้วยก็จะหาว่าเราไม่มีฝีมือไปซะอีก ไม่เห็นจะสวยเหมือนที่ตาเห็นเลย

เห็นมั๊ยล่ะว่าแสงสีคือมายา แต่ทำยังไงให้มายาเหล่านั้นมาฟุ๊งฟริ๊งอยู่ในภาพถ่ายของเราได้? น่าสนุกไม่น้อยเลยเชียวครับ.

ปิยะฉัตร แกหลง

 

Comments

comments

You may also like...