เมื่อเราลองถ่ายภาพพระจันทร์เป็นครั้งแรกเราก็มักจะงงๆ ว่าทำไมไม่เห็นเหมือนอย่างที่ตาเห็น? นั่นก็เพราะมันเป็นเรื่องของการเปิดรับแสงของกล้องถ่ายภาพที่มีความสามารถด้อยกว่าระบบการมองเห็นของเรานั่นเอง …แต่เรื่องนี้มันมีวิธีการกันอยู่ เรียกว่าเป็นสูตรในการถ่ายภาพพระจันทร์เลยทีเดียว
Canon EOS 70D • Tamron SP 150-600mm F/5-6.3 Di VC USD • F/8 • 1/125 sec. • ISO 100 (ครอปภาพขนาดใหญ่กว่าเฟรมจริง)
บอกค่าการเปิดรับแสงสำหรับสูตรการถ่ายภาพพระจันทร์นี้เสียก่อนเลย :
F/5.6 • 1/250 sec. • ISO 100
F/8 • 1/125 sec. • ISO 100
นั่นคือสูตรของค่าการเปิดรับแสงในการถ่ายภาพพระจันทร์ให้เป็นแบบภาพด้านบน เลือกใช้แบบใดแบบหนึ่งดู
สูตร F/8 ก็จะช่วยเรื่องความคมชัดได้อีกนิดหน่อย
แล้วทำไมเมื่อถ่ายภาพด้วยระบบอัตโนมัติจึงได้ภาพพระจันทร์แบบสว่างจ้า? นั่นก็เพราะระบบของกล้องจะมองว่ามันมีแสงอยู่ในระดับที่น้อยมาก จึงพยายามเปิดรับแสงเข้ามามากๆ พระจันทร์ของเราก็เลยโอเวอร์จนมองไม่เห็นรายละเอียดใดๆ ในขณะที่สูตรของเรานั้นถ้าจะว่ากันตามตรงแล้วก็คือค่า “อันเดอร์” สำหรับกล้องถ่ายภาพนั่นเอง
• วิธีการถ่ายภาพพระจันทร์
สิ่งที่คุณควรมีในการถ่ายภาพพระจันทร์ก็คือ
1. เลนส์เทเลโฟโต้ ยิ่งระยะโฟกัสยาวมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งได้พระจันทร์ขนาดใหญ่มากขึ้นเท่านั้น
2. ขาตั้งกล้อง เพราะคุณใช้ระยะเทเลโฟโต้ และความคมชัดก็เป็นเรื่องสำคัญ ควรใช้ขาตั้งกล้องเพื่อให้มันสั่นไหวน้อยที่สุด
3. สายลั่นชัตเตอร์ เช่นกัน นี่ก็เป็นปัจจัยเพื่อลดอาการสั่นไหวด้วย
ปรับกล้องไปที่โหมด “M” แล้วปรับค่าการเปิดรับแสงตามสูตรด้านบนนั้น เปลี่ยนระบบโฟกัสของเลนส์ไปเป็นแบบ Manual เล็งไปที่พระจันทร์แล้วหมุนปรับโฟกัสด้วยมือ
“ปิด” ระบบช่วยลดอาการสั่นไหวทั้งหมดที่มี ไม่ว่ามันจะอยู่ที่ตัวเลนส์หรือตัวกล้อง เพราะเมื่ออยู่บนขาตั้งกล้องแล้วมันอาจจะกลายเป็นตัวการที่ทำให้เกิดอาการภาพสั่นไหวขึ้นเสียเอง และเราก็ไม่ได้ต้องการใช้มันเสียด้วย
จากนั้นก็ถ่ายภาพตามปกติ คุณก็จะได้ภาพอย่างที่เห็นด้านบน ส่วนจะเป็นพระจันทร์เต็มดวง พระจันทร์เสี้ยว เว้าแหว่ง ฯลฯ อย่างไรก็ขึ้นอยู่กับช่วงวันที่คุณถ่ายภาพ ขอให้ศึกษาจากปฏิทินดู
• เทคนิคเพิ่มเติม
นอกจากขาตั้งกล้องและสายลั่นชัตเตอร์แล้ว เราขอแนะนำให้คุณใช้ระบบล็อคกระจกสะท้อนภาพเพื่อลดอาการสั่นไหวให้ได้มากที่สุด เพราะสำหรับเลนส์เทเลโฟโต้แล้วแม้แต่การสั่นสะเทือนเพียงน้อยนิดก็ทำให้เกิดอาการภาพสั่นได้เช่นกัน ซึ่งนั่นก็จะทำให้ภาพพระจันทร์ของคุณสูญเสียความคมชัดไปอีก
ไม่ควรตั้งกล้องบนจุดที่อาจเกิดการสั่นไหว เช่น บนสะพานลอย บนรถ บนต้นไม้ ซึ่งอาจเกิดแรงสั่นสะเทือนจากปัจจัยอื่นๆ เช่นรถวิ่ง ลมพัด ฯลฯ และควรหาสิ่งของที่มีน้ำหนักแขวนถ่วงที่แกนกลางของขาตั้งกล้องเพื่อเพิ่มความนิ่งให้กับมันมากยิ่งขึ้น
หากไม่มีสายลั่นชัตเตอร์ก็ใช้ระบบหน่วงเวลาถ่ายภาพแทน และควรเลือกใช้แบบ 10 วินาที ทั้งนี้ก็เพื่อให้อาการสั่นไหวทั้งหมดหายไปเสียก่อน
โปรดสังเกตว่าหากคุณโดนตัวกล้องหรือเลนส์แม้เพียงน้อยนิดก็จะเกิดอาการสั่นไหวขึ้นได้แล้วสำหรับเลนส์เทเลโฟโต้ ดังนั้นทุกขั้นตอนที่เป็นไปได้สำหรับเรื่องนี้เราก็ควรจะทำให้หมด ทั้งนี้ก็เพื่อภาพพระจันทร์อันคมชัดของคุณ
เห็นไหมว่าการถ่ายภาพพระจันทร์ไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใด ขอเพียงแค่รู้วิธีเท่านั้นเอง!
ดูวิธีการซ้อนภาพพระจันทร์ด้วย Adobe Photoshop ง่ายเสียยิ่งกว่าเคี้ยวกล้วย! > http://xtemag.com/wb/index.php?topic=32.0