ด้วยเหตุที่แสงสีและบรรยากาศในช่วงโพล้เพล้หรือที่เรียกอย่างสากล ว่า “Twilight” นั้นช่างสวยงามและน่าประทับใจเสียเหลือเกิน…มีหรือที่จะไม่กดเก็บเอาไว้สักภาพสองภาพ? …ปัญหาก็คือ จะถ่ายภาพยังไงให้มันออกมาแล้วดูดีดูสวยอย่างที่เราอยากจะให้มันเป็น?
เราต้องทำความเข้าใจก่อนเป็นอันดับแรกว่าในช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่ปริมาณแสงลดระดับลงมากแล้ว หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ แสงมีปริมาณน้อยลงเรื่อยๆ ทุกขณะ ข้อดีอย่างหนึ่งก็คือในภาพลักษณะนี้เราเองก็ไม่ได้ต้องการแสงมากสักเท่าไหร่ เพราะยิ่งเปิดให้แสงเข้าได้มากภาพก็ยิ่งสว่างจ้ามาก ซึ่งหมายความว่าเสียบรรยากาศแสงสีทันที…
บางคนยังเข้าใจสับสนว่าการถ่ายภาพนั้นต้องหมายถึงการเปิดรับแสงให้ “พอดี” ทุกครั้ง แต่คำว่า “พอดี” นี้เป็นความหมายที่ผกผันไปตามสถานการณ์ได้ หากยึดติดอยู่กับความพอดีของกล้องเราก็จะได้ภาพที่ดีสำหรับกล้อง แต่อาจจะไม่ดีสำหรับเราเท่าไหร่นัก เพราะไม่ว่ายังไงกล้องก็จะมองว่าแสงในช่วงนี้มีปริมาณน้อย ต้องเปิดรับเข้ามาให้มากกว่าปกติซึ่งก็จะทำให้แสงสีอันน่าประทับใจนั้นหายไป อีกทั้งยังต้องขึ้นอยู่กับตำแหน่งของจุดที่เราวัดแสงอีกต่างหากว่าอยู่ตรง ไหน? ถ้าไปวัดตรงดวงอาทิตย์ภาพนี้ก็ต้องออกมามืด แต่ถ้าวัดตรงส่วนอื่นก็ต้องออกมาสว่างตามระบบโปรแกรมของกล้องถ่ายภาพแบบอัตโนมัติ
ภาพถ่ายช่วง Twilight นี้เราจะต้องถ่ายภาพโดยเปิดรับแสงให้น้อยลงกว่าปกติสัก 1-2 สตอป เพื่อให้ภาพมืดลงซึ่งจะส่งผลให้แสดงสีสันได้สวยงามมากขึ้น มิฉะนั้นแล้วภาพก็จะดูซีดๆ อันเกิดจากความสว่างซึ่งไม่เป็นผลดีแต่อย่างใด
สำหรับ การวัดแสงนั้น หากเป็นไปได้ก็ให้ใช้ระบบวัดแสงเฉพาะจุดหรือเฉลี่ยหนักกลางภาพ แล้ววางตำแหน่งวัดแสงเอาไว้ที่ตรงข้างๆ ดวงอาทิตย์ (ไม่ใช่ในดวงอาทิตย์โดยตรง) เพราะบริเวณนั้นคือจุดที่ปริมาณแสงจะเอื้ออำนวยต่อภาพลักษณะนี้มากที่สุดด้วย (ตามตำแหน่งจุดสีฟ้าในภาพตัวอย่าง)
เหตุที่มันเหมาะสมที่สุดก็เพราะเป็นจุดที่ปริมาณแสงไม่มากหรือไม่น้อยจนเกิน ไป และอาจจะยังชดเชยแสงให้น้อยลงอีกสัก 1-2 สตอปก็ยังได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับความพอใจของเราเองเป็นสำคัญ อย่าเชื่อแต่ระบบของกล้องเพียงอย่างเดียว…
การถ่ายภาพช่วง Twilight นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่เราควรจะไปถึงสถานที่ก่อนเวลาอย่างน้อยสักหนึ่งชั่วโมง เพื่อจะได้มีเวลาเตรียมตัวได้ทัน
การเตรียมตัวก็คือ การเดินหามุมภาพและจัดวางองค์ประกอบล่วงหน้า คาดคะเนจุดที่พระอาทิตย์จะขึ้นหรือตกในกรอบภาพและสังเกตสภาพแวดล้อมรอบด้านอันจะช่วยเล่าเรื่องราวในภาพ มองหาปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในขณะที่ถ่ายภาพเอาไว้ล่วงหน้า ฯลฯ
เราจะมีเวลาในการถ่ายภาพเมื่อพระอาทิตย์ลงมาใกล้เส้นขอบฟ้าหรือลับหายไปหลังกลุ่มเมฆไม่นานมากนัก บางครั้งอาจจะไม่มีเวลาให้ถ่ายภาพแก้ตัวเลยทีเดียว ดังนั้นการเตรียมตัวและเตรียมการเอาไว้ล่วงหน้าให้พร้อมจึงเป็นสิ่งที่สำคัญไม่ใช่น้อย
บางครั้งก็อาจจะเกิดเหตุไม่คาดฝันได้ เช่นเรารอจะให้พระอาทิตย์แตะเส้นขอบฟ้า แต่ปรากฏว่าถูกกลุ่มเมฆที่เรามองไม่เห็นบังไปเสียก่อนก็มี ดังนั้นหากถ่ายภาพได้ก่อนก็ควรจะถ่ายภาพสำรองเอาไว้จะดีมาก
เมื่อพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้วอย่าเพิ่งรีบเก็บกล้องและอุปกรณ์ เพราะไม่ได้หมายความว่าเมื่อไม่มีพระอาทิตย์แล้วก็จะไม่มีอะไรอีกต่อไป ในบางครั้งบางโอกาสแสงสีของท้องฟ้ากลับยิ่งแสดงออกมายิ่งใหญ่อลังการมากกว่าตอนที่ยังมีพระอาทิตย์อยู่เสียอีก แถมยังมีเส้นสายของเมฆสวยแปลกให้คนรีบเก็บกล้องเจ็บใจเล่นอีกต่างหาก
อย่าประมาทจังหวะของท้องฟ้า…จังหวะดีๆ มักจะมาตอนที่เราไม่พร้อมเสมอ ดังนั้นควรให้แน่ใจว่ามันมืดสนิทแล้วจริงๆ จึงค่อยเก็บกล้องและอุปกรณ์
ไม่มีทางที่จะถ่ายภาพ Twilight ได้สุดยอดในการถ่ายภาพครั้งแรกนอกจากเป็นเรื่องบังเอิญ แต่ก็ไม่มีทางเช่นกันที่จะถ่ายภาพแนวนี้ไม่ได้ดีหากฝึกฝนอยู่เป็นประจำ เพราะการถ่ายภาพ Twilight มีวิธีการที่ไม่มาก สิ่งสำคัญก็คือการวัดแสง การจัดวางองค์ประกอบ และใส่เรื่องราวที่ดูน่าสนใจเข้าไปในภาพ
เมื่อฝึกฝนมากเข้าก็จะสามารถจับทางได้เอง หรืออาจจะชำนาญเสียจนไม่ต้องวัดแสงแล้ว เห็นสภาพแสงก็สามารถบอกได้ทันทีว่าควรจะใช้รูรับแสงเท่าไหร่ สปีดชัตเตอร์เท่าไหร่ ความสามารถนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้จริงหากลงมือถ่ายภาพบ่อยๆ สังเกตบ่อยๆ ดูทางแสงให้ดี
…แล้วจะรู้ว่าภาพ Twilight ไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใดเลย
: จาก PhotoNextoR ฉบับที่ 4