คุณกำลังคิดจะเข้าสู่โลกมาโครใช่ไหม และอะไรล่ะที่จะเป็นบันไดขั้นแรกของโลกใบจิ๋วนี้?…เลนส์มาโครราคาเบาๆ แต่ได้ภาพคมอย่างมหากาฬสักตัวนึงเป็นไงล่ะ?
เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนโปรย ต้นไม้ใบหญ้าผลิดอกออกผลสะพรั่ง ยอดอ่อนใหม่ๆ แทงช่อออกมาหยอกล้อกับโลกพร้อมหยดน้ำพร่างพราวที่เกาะแน่นิ่งบนผิวใบ ยั่วยวนให้เหล่าแมลงหลากสีสันและนานารูปพรรณสันฐานออกมาเริงร่าทั้งหาอาหารและสานต่อสายพันธุ์ให้อยู่คู่โลกต่อไป
แต่ก็ไม่เพียงแค่กิ่งยอดและปีกสวยเท่านั้นที่จะสะพรั่งในฤดูนี้ เพราะภาพถ่ายแนว “มาโคร” ก็ผลิดอกออกผลเช่นกัน
…ต้องถือว่านี่คือช่วงเวลาของเค้าเลย
คนหลังกล้องหลายคนหลงไหลต่อเสน่ห์ของการถ่ายทอดสีสันและเรื่องราวจากโลกใบเล็กที่เรียกกันว่า “มาโคร” เพราะมันคืออำนาจในการบันทึกภาพที่พ้นไปจากสมรรถนะการมองเห็นโดยสายตาปกติ บางสิ่งที่เราคิดว่าไม่ธรรมดาก็กลับกลายเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ขึ้นมาได้ด้วยกำลังแยกขยายของเลนส์มาโคร
นักถ่ายภาพจำนวนไม่น้อยจึงมุ่งหน้าเข้าหาเส้นทางสายนี้ รวมไปถึงบรรดามือใหม่ทั้งหลายที่พิสมัยโลกลี้ลับนี้ แต่ก็ดูเหมือนว่าจะเต็มไปด้วยข้อสงสัยว่าควรจะเริ่มจากตรงไหนดี?
…เลนส์มาโครนั่นแหละคือคำตอบอันจะกลายเป็นจุดเริ่มต้น
และนี่คืออีกหนึ่งจุดเริ่มต้นใหม่สำหรับทั้งมือเก่าและมือใหม่ “SIGMA 70mm F2.8 DG Macro ART” หากความคมชัดคืออะไรที่คุณอยากได้จากมาโครแน่ๆ
• 1:1 มาตราฐานของมาโคร
เลนส์มาโครนั้นมีคุณสมบัติทางกายภาพเช่นเดียวกับเลนส์ปกติทุกประการ เว้นเสียแต่ว่ามันสามารถจับโฟกัสได้จากระยะที่ใกล้มากกว่า คุณจึงสามารถขยายวัตถุขนาดเล็กจิ๋วได้โดยการเข้าสู่ระยะใกล้ แน่นอนว่าเลนส์ปกติทั่วไปไม่สามารถทำได้
เลนส์มาโครแท้จึงมีคุณสมบัติพื้นฐานที่สำคัญอย่างหนึ่ง นั่นก็คือมีอัตราขยายวัตถุที่ 1:1 หรือเรียกว่า “ขนาดเท่าจริง” (Life size) เมื่อถ่ายทอดปรากฏลงบนเซนเซอร์รับภาพ หรือถ้าพูดง่ายๆ ก็คือ เหมือนนำเอาวัตถุที่คุณกำลังถ่ายภาพนั้นไปแปะลงบนเซนเซอร์รับภาพเลย นั่นแหละครับ 1:1
เลนส์รุ่นนี้ก็มีคุณสมบัติที่ว่า มันให้อัตราขยายสูงสุดที่ 1:1 และสามารถจับโฟกัสไปที่ Infinity ได้ด้วย นั่นก็หมายความว่าคุณจะนำไปถ่ายภาพมาโครหรือภาพปกติทั่วไปก็ได้
นี่เราพูดถึงเมื่อประกบเข้ากับกล้องชนิด Full Frame นะครับ แต่เมื่อใช้กับกล้องตัวคูณก็คูณอัตราขยายเพิ่มเข้าไปอีก เช่น กล้อง APS-C ตัวคูณ 1.6 ก็เท่ากับว่าเลนส์รุ่นนี้ให้อัตราขยายที่ 1.6:1 หรือใหญ่กว่าขนาดจริงได้อีกนิดหน่อย
ซึ่งก็กลายเป็นข้อดีไป เพราะโลกใบจิ๋วของคุณจะถูกขยายให้ใหญ่มากขึ้นอีกด้วย
• ภายนอก
ชื่อชั้นของเลนส์ “ART” จากค่าย SIGMA ย่อมเป็นประกันได้ระดับหนึ่งแล้วสำหรับเลนส์ชั้นนี้
การออกแบบภายนอกของเลนส์รุ่นนี้อาจจะไม่ตรงใจใครหลายคนเท่าไหร่นัก มันเป็นรูปทรงกระบอกตรงๆ ปราศจากส่วนเว้าส่วนโค้งใดๆ แต่ข้อดีของมันก็คือเก็บรักษาง่าย และก็ดูแลรักษาง่ายด้วยเช่นกัน
วัสดุตัวเลนส์ก็ดูดีตามสไตล์ ART ของเขาเลยครับ น้ำหนักของมันก็คือ 515 กรัม…ครึ่งโลนั่นแหละ
วงแหวนหมุนโฟกัสขนาดใหญ่ด้านหน้าจับถนัดมือ ข้อดีอีกอย่างหนึ่งสำหรับรูปทรงตรงๆ ของเลนส์รุ่นนี้ก็คือ ผู้ที่มีมือขนาดเล็กก็สามารถหมุนโฟกัสได้ถนัด อย่างเช่นสาวๆ ไซส์มินิผู้น่ารักทั้งหลาย
มีสวิทช์ปรับตั้งสองตัวทางด้านข้าง คือ สวิทช์ Auto/Manual Focus และ Focus Distance Limited สำหรับกรณ๊ที่คุณอยากให้มันทำงานไวมากขึ้นเมื่อไม่ได้อยู่ห่างตัวแบบมากนัก มีให้เลือกแบบ “Full” คือวิ่งเต็มระยะโฟกัส, 0.5 เมตร – อินฟินิตี้ เมื่อตัวแบบของคุณอยู่ห่างเกินครึ่งเมตรแน่ๆ และ 0.258-0.5 เมตร เมื่อตัวแบบของคุณอยู่ห่างออกไปในระยะไม่เกินครึ่งเมตร
การปรับตรงนี้ก็จะทำให้ชุดโฟกัสไม่ต้องวิ่งเต็มระยะทาง นั่นย่อมส่งผลต่อความเร็วในการจับโฟกัสอัตโนมัติแน่นอน
คุณสามารถหมุนโฟกัสแบบแมนนวลได้ตลอดเวลาแม้ว่าจะอยู่ในโหมดออโต้โฟกัสครับ วงแหวนหมุนโฟกัสนี่ค่อนข้างละเอียดเลยทีเดียว
ด้านท้ายเลนส์มีวงแหวนยางซีลติดตั้งเอาไว้เพื่อป้องกันสิ่งไม่พึงประสงค์จะเล็ดลอดเข้าไปในกล้องผ่านช่องแปลนเม้าท์ ซึ่งมันก็เป็นสิ่งที่เลนส์มาโครภาคสนามควรต้องมี ซึ่งมันช่วยป้องกันทั้งฝุ่นละอองและความชื้นได้แน่
หน้าเลนส์ขนาดเล็กครับ นั่นก็หมายความว่ามันใช้ฟิลเตอร์ขนาดเล็กด้วย เพียงแค่ 49mm เท่านั้น ประหยัดตังค์ไปได้เยอะเลยทีเดียว
สิ่งที่ทำให้ผมแปลกใจอยู่อย่างนึงก็คือ เลนส์รุ่นนี้เป็นระบบโฟกัสที่เลนส์จะยื่นยาวออกมา ซึ่งปัจจุบันนี้ไม่ค่อยจะได้เห็นแล้ว (เพราะส่วนใหญ่ชุดจับโฟกัสจะเคลื่อนอยู่ภายในกระบอกเลนส์) ซึ่งในเรื่องนี้ก็ได้ข้อมูลจากทางผู้ผลิตว่า เหตุที่เลือกใช้วิธีนี้ก็เพราะจากผลการวิจัยของเขาน่ะนะ พบว่าการปรับโฟกัสโดยการขยับเลนส์ชิ้นหน้าจะให้ผลดีต่อคุณภาพของภาพมากที่สุด…อืมมม ก็มีเหตุผลฟังได้อยู่นะ
เมื่อจับโฟกัสที่อัตราขยาย 1:1 มันจึงมีส่วนที่ยื่นออกมา จากเดิมที่ความยาวกระบอกเลนส์อยู่ที่ 10.5cm ก็จะกลายเป็น 15.5cm บนชุดหน้าเลนส์ที่ยื่นออกมาน้นมีการสกรีนตัวเลขบอกระยะโฟกัสและอัตราขยายเอาไว้ด้วยครับ มองเห็นชัดเจน คุณภาพของงานเรียบร้อยดี
แต่ SIGMA ใส่ความเก๋าในการออกแบบลงไป ด้วยการมีฮูดมาให้ด้วย ซึ่งมันเจ๋งตรงที่ฮูดนั้นเกาะอยู่กับโครงสร้างหลัก ไม่ได้เกาะที่หน้าเลนส์ ดังนั้นมันจึงไม่ยื่นตามหน้าเลนส์ไปด้วย ส่วนหน้าเลนส์ที่ยื่นออกมาจนสุดที่ 1:1 นั้นก็จะมีความยาวเท่ากับฮูดที่สวมเข้าไปพอดี
ดังนั้นถ้าคุณสวมฮูดเอาไว้ เรื่องเลนส์ยื่นหรือไม่ยื่นก็ไม่ใช่ปัญหา
เมื่อมองโดยภาพรวม ภายนอกของเลนส์รุ่นนี้ก็จัดว่าสวยงามลงตัวดีอยู่ ถือไปไหนไม่อายใครแน่
• ภายใน
เลนส์รุ่นนี้ใช้ชิ้นเลนส์จำนวน 13 ชิ้น จัดเป็น 10 กลุ่ม โดยมีการใช้ชิ้นเลนส์พิเศษอย่าง FLD (“F” Low Dispersion), SLD (Special Low Dispersion) และ Aspherical เข้ามาร่วมด้วยเพื่อให้ช่วยแก้ปัญหาข้อด้อยทางคุณภาพแสง อันจะทำให้ถ่ายทอดลงสู่เซนเซอร์รับภาพได้ดีขึ้น ได้ภาพถ่ายคุณภาพดีนั่นเอง
ชิ้นเลนส์พิเศษเหล่านี้ยังช่วยลดปัญหาแฟลร์และโกสท์ ซึ่งล้วนเป็นตัวลดคุณภาพความคมชัดของภาพทั้งสิ้น
อีกปัญหาหนึ่งที่กวนใจนักถ่ายภาพมากๆ ก็คือ อาการ “สีเหลื่อม” หรือขอบม่วงตรงบริเวณที่มีคอนทราสต์สูง สาเหตุของเรื่องนี้ก็คือ ระยะการตกกระทบของคลื่นแสงที่สั้นยาวไม่เท่ากัน SIGMA จึงนำเอาชิ้นเลนส์ SLD เข้ามาแก้ปัญหานี้เพื่อปรับให้คลื่นแสงแต่ละสีมาตกที่ระยะเดียวกัน
ผลรวมจากทั้งหมดที่ได้ก็คือ ภาพถ่ายที่คมโคตรๆ นั่นเอง
กลีบรูรับแสงจำนวน 9 ใบ ส่งผลให้โบเก้ของเลนส์รุ่นนี้แทบจะกลมดิกเลย
…ต้องลองของกันหน่อยแล้ว!
• ภาคสนาม
ประโยคเท่ๆ ของทาง SIGMA ที่ประกบกับเลนส์รุ่นนี้คืออย่างนี้ครับ…
“Stunning resolution and clarity for a breathtaking visual experience —– a razor-sharp macro lens joins the Art line”
ละเอียด ดุดัน กระชากลมหายใจ และก็คมอย่างกะใบมีดโกน มาโครตัวแรกในกลุ่ม ART…ให้เสียงภาษาไทยโดยปิยะฉัตร…
คุณพระช่วย! มันคมเป็นใบมีดโกนอย่างที่เค้าว่าจริงๆ นั่นแหละ!
เอาจริงๆ นะ ตอนที่เห็นหน้าตามันครั้งแรกผมเองก็ไม่ได้นึกศรัทธาอะไรเท่าไหร่ ก็คงจะเลนส์มาโครตัวนึงเท่านั้นนั่นแหละ (เกือบจะมองบนด้วยละ)
ผมเองไม่ค่อยว้าวกับรูปทรงภายนอกที่ดูเฉยๆ ของหมอนี่สักเท่าไหร่ครับ แถมหน้าเลนส์ยังยื่นออกมาอีก นี่ดีนะว่าฮูดไม่วิ่งตามออกมาด้วย ยังพอหยวนๆ น่า
แต่พอลองถ่ายแล้วเปิดไฟล์ขึ้นมาดูเท่านั้นแหละครับ ตัยล้าววว ทำไมมันคมเยี่ยงนี้!
สำหรับคนถ่ายภาพมาโครเข้าสายเลือดน่ะนะครับ ไม่มีอะไรดีไปกว่าเลนส์ที่ถ่ายออกมาแล้วคมขาดบาคอเลือดไหลซิปๆ หรอก เราต่างก็อยากจะสะกดคนดูด้วยความคมโชว์รายละเอียดของภาพกันทั้งนั้นแหละ
นี่มันคมยันขอบอีกต่างหาก สีลงสีเหลื่อมอะไรก็ไม่ค่อยจะมี แฟลร์ลากคอนทราสต์ดิ่งลงนรกก็ไม่ค่อยมีอย่างว่าจริงๆ ด้วย แบบนี้สายสต๊อคโฟโต้คงจะชอบเพราะมันจะไม่ค่อยมีอะไรไปทำให้เหล่าขุนอินทั้งหลายหงุดหงิดมากนัก ไม่ต้องแก้ไขอะไรกันให้เหนื่อยเยอะแยะวุ่นวาย
เอาละครับ ผมไม่รู้หรอกว่าการใช้วิธีเคลื่อนเลนส์ชิ้นหน้าทำให้ภาพมันดีสุดๆ คุ้มค่าหรือเปล่า แต่ถ้าผลของมันออกมาเป็นแบบนี้ก็คงต้องยอม …ประเด็นที่ผมไม่ค่อยชอบนี้ก็เป็นอันตกไป
ถ้าเลนส์ยื่นเข้ายื่นออกแบบนี้แถมภาพยังไม่โอเคละก็คงต้องโบกมือลา…แต่คมโคตรๆ แบบนี้ก็สงสัยคงจะต้องโบกมือเรียกเข้ามาสินะ
แล้ววันนึง ผมก็ลองนำเลนส์มาโครรุ่นนี้ไปถ่ายภาพพอร์ตเทรต…ภาพบุคคลซึ่งเป็นสาวน้อยน่ารัก ใครเห็นใครก็ชอบนี่แหละ
คุณครับ ความคมของเลนส์รุ่นนี้คงจะทำให้บรรดานางแบบทั้งหลายขนลุกขนพองสยองเกล้า เพราะพวกเล่นไปขุดเอาทุกรายละเอียดขึ้นมาหมด เห็นแม้กระทั่งเม็ดเหงื่อที่สายตาปกติมองไม่ค่อยเห็นนู่นเลยเชียว
เลนส์มาโครรุ่นนี้สามารถจับโฟกัสไปจนถึงระยะอินฟินิตี้ได้ ดังนั้นแปลว่าคุณจะเอาไปถ่ายอะไรก็ได้ที่ปราถนาจะลองของกับความคมชัดและการเก็บรายละเอียด จะถ่ายวิวก็ยังไหว แถมดีอีกต่างหากเพราะมันเก็บรายละเอียดและให้ความคมชัดซะขนาดนี้ แถมสีสันก็ยังสดใสสวยงามอีกต่างหาก
แต่ถ้าถ่ายภาพบุคคลละก็ คุณอาจจะต้องกลับมาลดความคมชัดและรายละเอียดลงนิดนึง ไม่งั้นเดี๋ยวนางแบบหมดความมั่นใจแย่เลย
ที่ต้องสดุดีอีกอย่างก็คือ เรื่องของ “Diffraction” ซึ่งเป็นปัญหาที่ภาพจะฟุ้งๆ เมื่อใช้รูรับแสงแคบนั้นปรากฏว่าเจ้าตัวนี้ไม่ค่อยมีปรากฏครับ ดังนั้นมันจึงยังทำผลงานได้ดีอยู่แม้ว่าจะบีบรูรับแสงแคบตามสไตล์มาโครก็ตาม อันนี้ปรบมือให้เลย (อ่านเรื่องของ Diffraction ได้โดยคลิกที่นี่ครับ)
ก็ด้วยความที่มันถูกออกแบบมาให้เป็นเลนส์มาโครนี่แหละครับ ความคมชัดต้องถือเป็นปัจจัยอันดับแรกที่มันต้องทำได้ ซึ่งก็ทำได้ดีเสียด้วย ไม่เสียแรงที่เป็นเลนส์มาโครรุ่นแรกในสาย ART ของเค้า
ที่ผมแอบขัดใจเล็กๆ ก็คือ ความเร็วระบบออโต้โฟกัสของมันอยู่ในระดับปกติ ไม่เร็วปรู้ดปร้าด…แต่ก็อย่างว่าแหละ ชื่อก็บอกอยู่ว่าเป็น “ART” มันต้องละเอียดประณีตกันหน่อย มันไม่ใช่สาย SPORT ซะหน่อยนี่นะ
อีกอย่างที่เสียดายว่าไม่มีมาให้ก็คือ ระบบกันสั่นน่ะครับ โอเคแหละว่าถ้าเรานึกถึงมาโครที่อยู่บนขาตั้งกล้อง ระบบกันสั่นย่อมไม่ใช่เรื่องจำเป็น หรือถ้ายิงด้วยแฟลชตอนถือด้วยมือเปล่ามันก็ไม่จำเป็นอีกแหละ แต่มันช่วยได้มากตอนที่มองในช่องมองภาพน่ะครับ เราจะไม่ล้าสายตาสักเท่าไหร่
แต่ทุกเรื่องจะโดนเหตุผล “ความคม” ของมันกลบซะนิ่งหมดเลย แถมซ้ำมาอีกเรื่องก็คือ “ราคา”
• สรุป
- ข้อดี
1. ตัวเลนส์ขนาดปานกลางกำลังดี ไม่เล็กเกินไป ไม่ใหญ่เกินไป
2. คมชัดมากกกก สีสันดีมากกกก ละเอียดมากกก (กอไก่กลายตัวเลยทีเดียว)
3. ออกแบบระบบฮูดให้ไม่ยื่นตามหน้าเลนส์
4. ราคาไม่แพง
- ข้อสังเกต
1. ไม่มีระบบช่วยลดอาการสั่นไหว
2. หน้าเลนส์ยื่นออกจากกระบอกเลนส์
ต้องถือว่ามันเป็นเลนส์ที่ยอดเยี่ยมครับในระดับราคานี้ โดยเฉพาะเรื่องคุณภาพของภาพ แม้ว่าจะขาดบางสิ่งที่ผมต้องการไปบ้าง (ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่ผมต้องการนั้นต้องเป็นตัวตัดสินนี่นะ) ก็ในเมื่อมันเป็นเลนส์มาโคร F/2.8 ที่จ่ายไปสองหมื่นแล้วมีทอนกลับมาหนักๆ นี่ก็เรียกได้ว่ามันคุ้มค่าตัวอยู่ไม่น้อย
โดยเฉพาะคุณภาพของภาพทั้งความคมชัด สีสัน รายละเอียด ซึ่งตอบสนองได้แม้กับกล้องความละเอียดสูงๆ ผมว่ามันเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อย ไม่ว่าคุณจะเป็นมือเก่าหรือมือใหม่ก็ตาม รับรองว่าความคมชัดของภาพมาโครขั้นเทพจะเป็นของคุณแน่ เพราะในความเห็นของผมแล้วมันให้คุณภาพของภาพในระดับมืออาชีพเลยทีเดียวแหละ
ผมเชื่อว่าในอนาคต (แต่อีกเมื่อไหร่ไม่รู้นะ) เวอร์ชั่น “S” อันหมายถึง Sport ประมาณว่าสายแกร่งสายตะลุยและเร็วปรู้ดปร้าดคงจะต้องออกมาแน่ (แต่ก็คงจะไม่ใช่ราคานี้แน่)
ก็ถ้าคุณเป็นนักถ่ายภาพแนวอาร์ตที่ละเอียดละเมียดละไมในโลกแห่งมาโครละก็ รับรองว่าเลนส์ “ART” ตัวนี้เหมาะกับคุณแน่!
ปิยะฉัตร แกหลง
XT eMagazine
กรกฏาคม 2561
ดูรายละเอียดของเลนส์รุ่นนี้เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของ SIGMA โดยคลิกที่นี่