๒๑ พฤศจิกายน : วันนักถ่ายภาพไทย

 

“๒๑ พฤศจิกายน” ของทุกปีได้ถูกกำหนดให้เป็น “วันนักถ่ายภาพไทย” ซึ่งหลายท่านคงจะไม่รู้และอาจจะไม่เคยได้ยินมาก่อนว่ามีวันอย่างนี้ด้วยหรือ? ไม่น่าเชื่อว่ามี และนี่ถือเป็นวาระแห่งชาติที่ผ่านมติเห็นชอบจากรัฐบาลเสียด้วย

Main

ในอดีตที่ผ่านมานั้นวันนักถ่ายภาพไทยจะเป็นวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันนักถ่ายภาพไทยโดยมติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๔๘ เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ซึ่งมติในครั้งนั้นได้ถวายพระราชสมัญญาแด่พระองค์ในฐานะ “พระบิดาแห่งการถ่ายภาพไทย” และกำหนดให้ความสำคัญของวันที่ ๒๓ พฤศจิกายนของทุกปีเป็นวันนักถ่ายภาพไทย แต่ไม่เป็นวันหยุดราชการ

1

ต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมจากการแจ้งขอทบทวนในเรื่องของวันที่โดยนายกสมาคมสื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม (นาย พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ) เนื่องจากปรากฏหลักฐานยืนยันว่าวันที่ซึ่งถูกต้องจริงๆ คือวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน จึงได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้วันนักถ่ายภาพไทยเป็นวันที่ ๒๑ พฤศจิกายนของทุกปีนับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๙ เป็นต้นมา

• ที่มาของวันนักถ่ายภาพไทย

ประวัติศาสตร์ของการถ่ายภาพในประเทศไทยหรือ “สยาม” นั้นเริ่มมีขึ้นในปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) ซึ่งผู้ที่ได้รับการบันทึกเอาไว้ว่าเป็นนักถ่ายภาพท่านแรกในแผ่นดินสยามคือ “บาทหลวงปาเลอกัว” ซึ่งเป็นท่านสังฆราชชาวผรั่งเศสประจำอยู่ที่วัด “คอนเซ็บชัน” (สามเสน) ส่วนนักถ่ายภาพชาวไทยคนแรกคือ “โหมด อำมาตยกุล” หรือ “พระยากระสาปน์กิจโกศล” ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปในเรื่องของการถ่ายภาพ

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) ได้ปรากฏภาพถ่ายเป็นจำนวนมาก ซึ่งพระองค์ได้ทรงนำภาพถ่ายมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทางการทูตโดยทรงพระราชทานภาพพระบรมฉายาลักษณ์ไปสู่ประมุขของประเทศต่างๆ ที่ทรงเจริญสัมพันธไมตรีด้วย นอกจากนี้ยังเกิดกิจการร้านถ่ายรูปขึ้นสองร้าน ซึ่งเป็นร้านของชาวต่างชาติที่ชื่อ “เอ.แซกเลอร์” และอีกร้านหนึ่งนั้นเป็นของนาย “จิตร จิตราคนี” หรือ “หลวงอัคนีนฤมิตร” ซึ่งมีผลงานภาพถ่ายระดับเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินและขุนนาง รวมไปถึงการบันทึกเหตุการณ์สำคัญเอาไว้เป็นจำนวนมาก

แต่การพัฒนาอย่างใหญ่หลวงสำหรับการถ่ายภาพได้เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ซึ่งได้ทรงสนพระทัยในศิลปะวิทยาการสมัยใหม่ทุกรูปแบบ ในยุคนี้ได้เกิดกิจการร้านถ่ายภาพอย่างแพร่หลาย และการถ่ายภาพก็ได้กลายมาเป็นเรื่องราวปกติของสามัญชนจากแต่เดิมที่จะจำกัดอยู่เฉพาะในแวดวงชั้นสูงเท่านั้น

2

และในยุคนี้เองที่ได้เกิดกิจกรรม “อวดภาพถ่าย” (ซึ่งถ้าเป็นศัพท์ในยุคนี้ก็คือการประกวดภาพถ่ายนั่นเอง) ต่อสาธารณะชนขึ้นเป็นครั้งแรก โดยที่เป็นพระราชประสงค์ของพระองค์ในการเพิ่มกิจกรรมอันเกี่ยวกับการถ่ายภาพเข้าไปในงานประเพณี ในงานนี้ยังได้มีการจัดให้มีการออกร้านที่เกี่ยวกับการถ่ายภาพ และที่สำคัญคือมีร้านถ่ายรูปหลวงจัดแสดงอยู่ด้วย ซึ่งร้านถ่ายรูปหลวงนี้พระองค์จะเสด็จไปเป็นประจำทุกคืน และในบางโอกาสก็ทรงเป็นช่างถ่ายรูปเองด้วย ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมเพื่อส่งรูปถ่ายมาแสดงเพื่อหารายได้ในการบูรณะสร้างพระอารามในงานประเพณีไหว้พระพุทธชินราชประจำปี พ.ศ.๒๔๔๘

3

ในงานอวดภาพถ่ายครั้งแรกนี้มีผู้ส่งรูปถ่ายเข้าประชันมากถึง ๑๔๐ คน เป็นรูปถ่ายทั้งหมด ๑,๑๘๔ รูป มีทั้งรูปถ่ายที่อัดลงกระดาษและกระจกใสแบบถ้ำมอง (ฟิล์มกระจก) โดยมีรางวัลแบ่งเป็นสามระดับคือ เหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง ตามลำดับ

4

หลักฐานในชั้นแรกที่มีประกอบเพื่อใช้ในการลงมติเพื่อจัดตั้งวันนักถ่ายภาพไทยนั้นก็มีที่มาจากงานในครั้งนี้ ซึ่งเป็นวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๔๔๘ จากหนังสือที่ชื่อ “กษัตริย์และกล้อง” โดย ศ.ศักดา ศิริพันธ์ ซึ่งใช้ข้อความว่า “ประกาศแจ้งความมา ณ วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๔” แต่จากการค้นหาหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อลงมติแก้ไขนั้นได้มาจากการตรวจสอบหลักฐานของหอจดหมายเหตุแห่งชาติและของ พลตรีหม่อมราชวงศ์ ศุภวัฒย์ เกษมศรี ซึ่งใช้ข้อความตรงกันว่า “ประกาศแจ้งความมา ณ วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๔”

ในที่สุด คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติจึงได้มีมติเห็นชอบในคราวประชุมครั้งที่ ๑/๒๕๔๙ เมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ในฐานะ “พระบิดาแห่งการถ่ายภาพไทย” และกำหนดแก้ไขวันนักถ่ายภาพไทยเสียใหม่ให้ถูกต้องตามปรากฏหลักฐานเป็นวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ของทุกปีสืบไป

…นั่นคือที่มาที่ไปของ “วันนักถ่ายภาพไทย” ของพวกเรานั่นเอง.

Credit : ภาพประกอบจาก Internet

ปิยะฉัตร แกหลง (Nextopia)

 

Comments

comments

You may also like...