อย่างที่หลายท่านได้ทราบกันแล้วครับว่าผมเองได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นกรรมการตัดสินภาพถ่ายในรายการ “Canon Photo Marathon 2015” สนามเชียงใหม่ ซึ่งรายการนี้ก็จบไปแล้วเรียบร้อย ผลการตัดสินก็ออกมาเป็นที่ทราบกันไปแล้วเรียบร้อยด้วยเช่นกัน และผมก็มีมุมมองจากกรรมการคนหนึ่งมาเล่าให้ทุกท่านได้ฟัง
นี่ไม่ใช่หน้าที่ซึ่งผมจะต้องมาเล่ามาอวยอะไรเพื่อยกความดีเอาหน้า แต่ในทรรศนะของผมแล้วมันเป็นงานที่ดีและมีประโยชน์มากครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการบริจาคเงินค่าสมัครเข้าร่วมแข่งขันจากทุกท่านให้กับโรงเรียนเพื่อคนพิการแห่งหนึ่ง (ซึ่งผมจำชื่อไม่ได้) แต่ผมอยู่ร่วมในเหตุการณ์นั้นและได้เห็นการนับการมอบเต็มสองตา ดังนั้นมั่นใจได้ว่าทุกท่านต่างก็มีส่วนในกุศลในแง่ของการช่วยเหลือเกื้อกูลสังคมนี้อย่างแน่นอน อันนี้เป็นเรื่องที่ดีและผมต้องขออนุโมทนากับทางทีมงานของ Canon ที่มีไอเดียนี้ด้วย
แต่ประเด็นของผมก็คือประสบการณ์จากในห้องตัดสินภาพถ่ายของผู้เข้าแข่งขันครับ เรื่องนี้ไม่ใช่ดราม่าแต่ผมเห็นว่ามันคือสิ่งที่มีประโยชน์และน่าจะนำไปใช้ประกอบมุมมองเพื่อพัฒนาฝีมือในการถ่ายภาพได้ ในโอกาสต่อๆ ไปจะได้เข้ามาประลองฝีมือกันอีกครั้ง
…จะปล่อยทิ้งให้หายไปกับกาลเวลาก็ดูน่าเสียดาย
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้คือจากมุมมองของผมเองที่มันไม่จำเป็นต้องถูกต้องผิดสำหรับคุณ และคุณก็ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับมุมมองของผม อันไหนที่เป็นประโยชน์ก็เก็บเกี่ยวไปครับ อันไหนที่ไม่ใช่ก็ทิ้งมันไว้ตรงนี้นี่แหละ
ผมจะไม่พูดลงรายละเอียดนะครับ ไม่พูดถึงภาพที่ได้รางวัลด้วย แต่จะเล่าเป็นภาพรวมไปเลยว่าผมเห็นอะไรจากตรงนั้นและอะไรที่จะเป็นประโยชน์ต่อเราๆ ท่านๆ กันบ้าง
วันนั้นผมได้พูดออกอากาศไปว่า “คิดให้มากแล้วทำให้น้อย อย่าคิดให้น้อยแล้วทำให้มาก” …ฟังดูเหมือนจะเป็นคนขี้เกียจและไม่ค่อยเข้าท่า แต่เพราะโดยกติกาในการแข่งขันของรายการนี้จะมีเรื่องของกรอบเวลาในการถ่ายภาพเข้ามาเกี่ยวข้องบังคับอยู่ด้วย ดังนั้นถ้าคุณใช้เวลาในการคิดน้อยไปก็จะตีโจทย์ไม่แตก ได้แต่มุ่งหน้าไปโดยหวังว่าโชคชะตาจะพาไปเจออะไรสักอย่างที่เข้าทางกับโจทย์ซึ่งได้รับมา แต่ในที่สุดเวลาก็หมดลงโดยที่ได้ภาพอะไรกลับมาก็ไม่รู้
ดังนั้นเมื่อรู้โจทย์แล้วคุณควรต้องหยุดและพยายามใช้ความคิดให้มากครับ บอกตัวเองไว้เลยว่าเราจะใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงในการคิดตีโจทย์เสียก่อน หลังจากนั้นก็หาคำตอบมาว่าต้องไปที่ไหนและทำอย่างไรเพื่อให้ได้ภาพแบบนั้นกลับมาอย่างที่คิด หากวางแผนเรื่องเวลาได้ดีมันก็จะเป็นประโยชน์อย่างมาก
แต่ถ้าคุณประมาณว่า “อะไรดีวะๆ” แล้วก็เดินไปยกกล้องส่องไปเรื่อย นั่นหมายความว่าสมองของคุณจะไม่ค่อยได้เรียบเรียงครับเพราะมันจะพะวงอยู่กับการลั่นชัตเตอร์ งานที่ออกมาก็จะซัดส่ายสะเปะสะปะไปเรื่อย สุดท้ายเวลาก็หมดลงอยู่ดี …ซึ่งมันก็เข้าหลักการในการวางแผนงานอื่นๆ นั่นแหละครับ คิดก่อนวางแผนก่อนแล้วค่อยลงมือ
นี่ไม่ใช่งานที่เน้นในเรื่องของปริมาณใช่ไหมล่ะ? เน้นไปที่เรื่องของคุณภาพต่างหาก ไม่ว่าคุณจะถ่ายภาพมาได้เยอะแยะมากมายแค่ไหนสุดท้ายก็ได้ส่งแค่เพียงภาพเดียวอยู่ดี แล้วจะใช้เวลาให้หมดไปกับการถ่ายภาพไปเรื่อยทำไมกันล่ะ?
ภาพถ่ายส่วนใหญ่ที่ผมได้เห็นในวันนั้นก็จะออกมาประมาณแบบนี้แหละครับ ถึงแม้คุณจะเป็นมือใหม่แต่ถ้าคุณใช้เวลาวางแผนสักหน่อยแล้วหาวิธีถ่ายภาพแบบนั้นออกมาให้ได้ จะถามใครต่อใครหรือค้นคว้าหาวิธีมันก็จะออกมาแล้วดีกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งนั่นก็จะเป็นความรู้และประสบการณ์ใหม่ที่ติดตัวคุณไปอีกนานเท่านาน และผมว่านั่นแหละคือประโยชน์ที่แท้จริงของการเข้าร่วมรายการนี้ ส่วนรางวัลและของรางวัลน่ะมันเป็นผลพลอยได้ต่างหาก
…ซึ่งประสบการณ์นี้ก็สามารถนำไปใช้กับเรื่องอื่นๆ ในชีวิตได้อีกด้วย ใช่ไหมล่ะครับ?
รู้ไหมล่ะคณะกรรมการเองก็มีกรอบเวลาในการตัดสินภาพถ่ายด้วยเหมือนกันครับ ไม่ใช่ว่านั่งชิวๆ จิบกาแฟค่อยๆ ดูภาพละเลียดไป ภาพถ่ายจำนวนนับร้อยๆ ภาพจะเลื่อนเข้ามาให้ดูเรื่อยๆ ดังนั้นเราจะไม่มีเวลาค่อยๆ ดูค่อยๆ หาคำตอบ เห็นภาพปุ๊บก็แทบจะต้องยกคำตัดสินเลยว่าโอหรือไม่โอ …มันก็คล้ายๆ กับเวลาที่คุณไล่นิ้วเลื่อนหน้าจอเพื่อดูฟีดข่าวของ Facebook นั่นแหละ คุณจะมีเวลามากพอที่จะค่อยๆ ดูทีละภาพอย่างพินิจพิจารณาหรือไม่? และถ้าคุณทำอย่างนั้นได้จริงงานของคุณจะเสร็จตอนกี่โมง?
ภาพกลุ่มที่เข้ารอบหลังมานั่นแหละครับถึงจะมาดูกันอย่างพิจารณามากขึ้น ใช้เวลาตัดสินในแต่ละภาพมากยิ่งขึ้น ดังนั้นถ้าคุณผ่านด่านแรกมาไม่ได้ก็หมดสิทธิ์
ดังนั้นผมขอบอกเคล็ดลับแรกของการส่งภาพเข้าประกวดเพื่อผ่านด่านแรกให้ได้ก่อนเลยครับ คุณต้องถ่ายภาพมาให้เตะตาสะดุดตาก่อน จะด้วยสี ขนาด แสง เทคนิค หรือจะด้วยอะไรก็ไม่รู้ล่ะ ซึ่งมันจะต้องเรียกร้องความสนใจได้ และโดดเด่นมากพอที่จะทำให้ใครสักคนหยุดดูได้ …ซึ่งในที่นี้ก็คือกรรมการนั่นแหละครับ
อย่ามาแนวนามธรรมจ๋าชนิดต้องตีความกันอย่างลึกซึ้งเป็นชั่วโมงๆ เพราะนี่คือการแข่งขันประกวดถ่ายภาพครับ ไม่ใช่การแสดงภาพถ่ายในแกลลอรี่ที่กรรมการจะไปนั่งจ้องภาพเพื่อให้จินตนาการมันเพริดแพร้วไปเรื่อย ถ้าแบบนั้นละก็สามปีผ่านไปเห็นจะยังตัดสินกันไม่เสร็จแน่
จากนั้นก็คือ องค์ประกอบภาพควรต้องดูดี จะใช้หลักการทั่วไปหรือหลักการที่สลับซับซ้อนก็สุดแท้แต่ฝีมือของคุณเอง แต่ระวังไว้ว่าอย่าให้เป็นสุดยอดการวางองค์ประกอบภาพที่มีแต่ตัวคุณเองเท่านั้นที่เข้าใจเสียล่ะ
ภาพไม่ควรโอเวอร์หรืออันเดอร์มากเกินไปครับ (ยกเว้นภาพแนวๆ โลว์คีย์, ไฮคีย์ อันนั้นก็ว่ากันไป) อันนี้เป็นหลักการโดยทั่วไปในการตัดสินภาพถ่ายเลย โฟกัสควรจะต้องเข้าจุดที่มันถูกมันควร อย่าให้ผิดเพี้ยนมากเกินไปนัก
สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นอยู่บ่อยๆ เลยก็คือพื้นที่ส่วนท้องฟ้าที่สว่างขาวไปหมด นั่นเป็นจุดอ่อนที่สำคัญอย่างยิ่งยวดครับเพราะมันจะเป็นสาเหตุที่ทำให้องค์ประกอบภาพของเราดูพิกลพิการและเวิ้งว้างโดยไม่ต้องมานั่งวิเคราะห์ ถ้าวันนั้นท้องฟ้าไม่สวยคุณก็ควรจะตัดพื้นที่ท้องฟ้าลงหรือไม่เอาท้องฟ้าเลย หลายท่านเน้นนำเสนอในเรื่องของทิวทัศน์โดยมีพื้นที่ท้องฟ้าเป็นมุมกว้างไปด้วย แต่ในเมื่อท้องฟ้ามันไม่สวยก็เลยยิ่งเป็นการเพิ่มพื้นที่ของจุดอ่อนเข้าไปกันใหญ่
และที่สำคัญมากๆ ก็คือ ผมสังเกตและดูรู้เลยครับว่าหลายท่านนั้นมุ่งให้ความสำคัญอยู่กับตัวแบบหลักจนลืมพิจารณาสิ่งที่รองลงไปอย่างพวกฉากหลังหรือองค์ประกอบแวดล้อมที่ปรากฏในภาพ ซึ่งในทรรศนะของการตัดสินภาพถ่ายแล้วทุกสิ่งในภาพคือคะแนนทั้งหมด หากตัวแบบหลักของคุณมันเจ๋งมากกว่าภาพคู่แข่งอยู่นิดหน่อย แต่โดยภาพรวมแล้วของคู่แข่งดูดีกว่าก็อาจจะทำให้ตกเป็นรองได้…ไม่สิ ต้องตกเป็นรองแน่ๆ ดังนั้นคุณต้องไปศึกษาและฝึกฝนเรื่องนี้ดูดีๆ ครับ
หลายท่านลืมนึกถึงเรื่องของ “ความเหมาะสมถูกต้อง” อันเป็นพื้นฐานไปครับ เช่น ภาพที่สุ่มเสี่ยงต่อศีลธรรม ภาพที่ล่อแหลมต่อภาพลักษณ์ ภาพที่มีใบหน้าของผู้คนที่สุ่มเสี่ยงมากเกินไป ภาพที่ไม่เหมาะต่อความศรัทธา ภาพที่สองแง่สามง่ามต่อการโป๊เปลือย ภาพที่เน้นโลโก้ของสินค้ามากเกินไป ภาพที่ทำความเสื่อมเสียให้กับบุคคลอื่นได้ ฯลฯ ผมยกตัวอย่างเช่น การวางองค์ประกอบภาพที่รูปเคารพศรัทธาต่างๆ ลงมาอยู่บนพื้นหรือในจุดที่ไม่สมควร, มีการกระทำอันไม่เหมาะสมอยู่ในภาพ หรือมีผู้ที่ต้องรู้สึกเสียหายหรืออับอายจากวิธีการนำเสนอในภาพถ่าย
คุณอาจจะมีแนวคิดในการประชดประชันหรือเสียดสีสังคมโดยนำเสนอการละเมิดกฏหมายเล็กๆ น้อยๆ จากที่มีป้ายห้ามป้ายเตือนปรากฏอยู่ (เช่นการจอดรถในที่ห้ามจอด) แน่นอนครับว่าถ้าผู้ที่ปรากฏอยู่ในภาพมาเห็นเข้าก็ย่อมจะไม่พอใจและรู้สึกเสียหายไปจนถึงฟ้องร้องเป็นความกันได้เลย ทีนี้ละครับเป็นได้เรียงรายกันขึ้นโรงขึ้นศาลแน่ แล้วใครจะไปอยากละครับ? อย่าว่าแต่การประกวดถ่ายภาพเลย แม้แต่บรรดานักข่าวทั้งหลายที่เขาว่ากันว่าเป็นอภิสิทธิ์ชนในแง่นี้ก็ยังต้องขึ้นโรงขึ้นศาลกันเป็นว่าเล่น
เพราะในแง่ของการประกวดที่ต้องมีการประชาสัมพันธ์ภาพถ่ายที่ได้รางวัลออกสู่สาธารณะชนนั้นย่อมต้องคำนึงถึงเรื่องนี้เป็นอย่างมากครับ ไม่ได้มีแค่พวกเราที่เห็น และถ้ามีดราม่าหรือถูกด่าในประเด็นของความไม่เหมาะสมขึ้นมาละก็ทั้งคนจัดงานและคณะกรรมการนี่แหละที่จะต้องรับไปเต็มๆ เลยทีเดียว ลองคิดกลับกันดูก็ได้ครับว่าถ้าคุณไปเป็นกรรมการน่ะจะต้องคำนึงถึงแง่ของความเหมาะสมแนวๆ นี้อย่างไรบ้าง?
…ดังนั้นถึงภาพของคุณมันจะเจ๋งสุดๆ ในทุกด้าน แต่พลาดในเรื่องนี้ไปก็ต้องถูกคัดออกครับ
เรื่องราวของการถ่ายภาพมันมีมากกว่านี้อีกเยอะแยะมากมายครับ ผมเองก็คงจะยังเล่าไปไม่ได้หมดสิ้น คุณต้องไปฝึกฝนกันต่อไปเพื่อจะรับมือกับการแข่งขันประกวดภาพถ่ายที่มีอยู่ดาษดื่นในเวลานี้ แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือการ “แข่งกับตัวเอง” ให้ได้ ซึ่งมันจะดีมากกว่าการแข่งกับคนอื่นๆ
ประสบการณ์จากการส่งประกวดภาพถ่ายคืออะไร? ถ้าในการเข้าประกวดแล้วคุณต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ ทั้งหมดข้างบนที่กล่าวมาแล้วนั้นก็ย่อมจะทำให้ทักษะและฝีมือรวมไปถึงการคิดการมองและการวางแผนของคุณเพิ่มพูนขึ้นมาใช่ไหมครับ? ผลการตัดสินออกมาแล้วก็นำมาวิเคราะห์ดูว่าภาพของคนที่ชนะกับภาพของเรามันต่างกันตรงไหนยังไง นั่นแหละคือประโยชน์อันแท้จริงเลยล่ะ ไม่ใช่แค่ส่งภาพไปแล้วก็ตกร่วงไปอย่างไม่รู้เรื่องเลยว่าเราทำผิดทำถูกอะไรยังไง ไม่มีเห็นใครมานั่งบอกกันเลย…
…ถ้าคุณคิดเพียงแค่นั้นก็จะไม่ได้ประโยชน์อะไรเท่าไหร่ในแง่ของการถ่ายภาพจากการเข้าประกวดครับ.
ปล. : ยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัลทุกท่านด้วยครับ …พวกนายแน่มาก!
ปล. สอง : ขอขอบคุณ Canon Marketing (Thailand) ที่คืนกำไรโดยการจัดกิจกรรมเช่นนี้ให้กับวงการถ่ายภาพของบ้านเราด้วยครับ
ปิยะฉัตร แกหลง (Nextopia)
ธันวาคม 2558